มาตรการควบคุมการค้าไม้ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่จะบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2013 แม้จะไม่สร้างผลกระทบในแง่ลบต่อธุรกิจไม้ยางพารามากนัก แต่ไทยเองก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว โดยเร่งสร้างระบบการออกใบรับรองความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ยางพาราและเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement : VPA) กับ EU พร้อมทั้งเร่งวิจัยพัฒนาพันธุ์ยางและลงทุนยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
นโยบายด้านอุปทานในการปกป้องป่าไม้ (Supply side management) ในช่วงทศวรรษ 1980 ส่งผลให้ไม้ยางพาราก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ ในอดีต ต้นยางพาราที่เกษตรกรตัดโค่นเพื่อที่จะปลูกต้นใหม่ทดแทน (ต้นยางอายุราว 25-30 ปีจะให้ปริมาณน้ำยางลดลงจนไม่คุ้มกับการกรีดเพื่อเอาน้ำยาง) จะถูกเผาทิ้งหรือนำมาทำเป็นเชื้อเพลิง โดยมิได้นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้แต่อย่างใด จนกระทั่งมีการดำเนินนโยบายปิดป่าของประเทศเขตร้อนในช่วงทศวรรษ 1980 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไม้ป่าเขตร้อน เช่น   ไม้สัก ไม้ประดู่ ในขณะที่ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ไม้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้หันมาใช้ไม้ยางพาราเพื่อทดแทนไม้ป่ามากขึ้น ซึ่งจากคุณสมบัติของไม้ยางพาราที่มีสีขาวนวล จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไม้สักขาว (White Teak) หรือไม้โอ๊คมาเลเซีย (Malaysian Oak)” กอปรกับมีราคาถูกกว่าไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ อยู่ราว 40% ส่งผลให้ไม้ยางพาราได้รับความนิยมสูงและก้าวเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ เห็นได้จาก สัดส่วนของการผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ มีการใช้วัตถุดิบจากไม้ยางพาราสูงถึง 80% จากที่ไม่เคยใช้มาก่อนเลยในอดีต และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปต่อมูลค่าการส่งออกไม้แปรรูปรวมของไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกไม้แปรรูปเขตร้อนอันดับหนึ่งของโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 1992 เป็น 99% ในปี 2011 (รูปที่ 1)ในขณะที่กฎหมายควบคุมการค้าไม้ของ EU ที่จะบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2013 เป็นนโยบายด้านอุปสงค์ในการปกป้องป่าไม้ (Demand side management) ที่มีผลครอบคลุมถึงไม้ยางพาราที่ส่งออกไปยังตลาด EU การใช้มาตรการปกป้องป่าไม้ด้านอุปทานเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยปกป้องป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก เห็นได้จากการประมาณการของ World Bank ในปี 2012 ที่พบว่า ทุกๆ สองนาที พื้นที่ป่าไม้ขนาดเท่าสนามฟุตบอล ยังคงถูกตัดโค่นโดยกลุ่มผู้ค้าไม้เถื่อน ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าไม้ที่สำคัญ หันมาใช้มาตรการควบคุมด้านอุปสงค์ควบคู่กันไป โดยการห้ามนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้เถื่อนภายในประเทศ โดยล่าสุดภายใต้แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade : FLEGT) ของ EU ได้มีการออกกฎระเบียบควบคุมการค้าไม้ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2013 กำหนดให้ผู้นำเข้าไม้ใน EU ที่นำเข้าไม้ทุกชนิดจากประเทศที่ยังไม่ได้เจรจา VPA เพื่อหยุดการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายกับ EU (ไทยยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเจรจา) จะต้องปฏิบัติตามระบบ Due Diligence โดยการเก็บข้อมูลแหล่งที่มาและพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งที่ไม้ถูกโค่น (รูปที่ 2)สำหรับผลกระทบต่อไทย คือ ผู้ประกอบการที่ส่งผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราไปยังตลาด EU จะต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินการเพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผลกระทบดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด การที่ไม้ยางพาราไม่ได้เป็นไม้ควบคุมตาม พ.ร.บ ป่าไม้ ทำให้ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการออกใบรับรองแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราไป EU จะต้องดำเนินการขอใบรับรองจากหน่วยงานภาคเอกชนซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการทำการค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปส่วนใหญ่ของไทยราว 97% ส่งออกไปยังตลาดจีน (รูปที่ 3) แต่กระนั้นผลกระทบทางอ้อมต่อไทยอาจเพิ่มขึ้นได้ ถ้าผู้ส่งออกไม้ยางพาราถูกร้องขอใบรับรองจากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ในจีนที่ผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาด EU  โดยจากข้อมูลพบว่าในปี 2011 จีนมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ไป EU ราว 16% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหมด (รูปที่ 3)

แต่ในทางกลับกัน มาตรการดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ในจีนและอาเซียนมีความต้องการใช้ไม้ที่ถูกกฎหมายเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปยังตลาด EU เพิ่มขึ้นประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร จากประมาณการขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในปี 2008 พบว่า EU นำเข้าไม้เถื่อนราว 26 ถึง 31 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น ราว 16-19% ของปริมาณการนำเข้าไม้ทั้งหมด โดยราว 4 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เถื่อนในจีนและอาเซียน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เพื่อที่จะรักษาตลาดเฟอร์นิเจอร์ใน EU อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ในจีนและอาเซียนจะมีความต้องการใช้ไม้ที่ถูกกฎหมายเพื่อทดแทนไม้เถื่อนราว 4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้ความต้องการใช้ไม้ยางพาราปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราไทย ไม้ยางพาราถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นไม้ผิดกฎหมาย (ไม้ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย เช่น พื้นที่บุกรุก ถือว่าเป็นไม้ผิดกฎหมาย)  และเป็นไม้ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการนำผลพลอยได้จากภาคเกษตรมาใช้ประโยชน์ ประกอบกับอุปทานไม้ป่าในจีนและอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้จะต้องหันมาใช้ไม้ยางพาราเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการไม้ยางพาราแปรรูปจากไทยปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดนั้น ยังขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิต และความสามารถในการเร่งเจรจา VPA กับ EU แม้ EU จะเปิดโอกาสให้ประเทศที่ส่งออกไม้สามารถเจรจาข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) เพื่อที่จะได้สิทธิในการออก FLEGT License ซึ่งสามารถใช้รับรองไม้ที่ส่งเข้าไปใน EU โดยไม่ต้องผ่านระบบ Due Diligence ตั้งแต่ปี 2008 แต่จนถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่ได้เริ่มการเจรจากับ EU เนื่องจากกรอบการเจรจาเพิ่งได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนั้น ผลผลิตไม้ยางพาราต่อต้นของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ (ราว 0.5 ลูกบาศก์เมตร ต่อต้น) เนื่องจากการขาดประสิทธิภาพในการเลื่อยของโรงงานแปรรูป ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาไทยเน้นวิจัยพันธุ์ยางพาราที่เพิ่มผลผลิตน้ำยางเป็นหลัก พร้อมทั้งการปลูกยางพาราของไทยยังเป็นการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำยางมากกว่าไม้ยางพารา ทำให้เกษตรกรขาดการดูแลรักษาต้นยางพาราเพื่อที่จะให้ได้ไม้ยางพาราที่มีคุณภาพ


รูปที่ 1: ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกไม้แปรรูปเขตร้อนอันดับหนึ่งของโลก
โดยพบว่ากว่า 99% ของไม้แปรรูปที่ส่งออกเป็นไม้ยางพารา

4589_20130221155657.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCBEIC จากข้อมูลของกรมป่าไม้ และองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ (ITTO)

 

รูปที่ 2: ระบบ Due Diligence  กำหนดให้ผู้ประกอบการ EU จะต้องเก็บข้อมูลและ
ประเมินความเสี่ยงว่าไม้ที่นำเข้ามามีโอกาสที่จะเป็นไม้เถื่อนมากน้อยเพียงใด

4583_20130221151718.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCBEIC จากข้อมูลของ EU Timber Regulation No. 995/2010

 

รูปที่ 3: ไม้ยางพาราแปรรูปส่วนใหญ่ของไทยราว 97% ส่งออกไปจีน
ในขณะที่จีนมีมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ไป EU ราว 16%

4584_20130221151736.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCBEIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ Trade map

 

รูปที่ 4: อินโดนีเซียมีความพร้อมด้านอุปทานไม้ยางพารามากกว่าไทย
เห็นได้จากพื้นที่ตัดโค่นไม้ยางพาราที่สูงกว่าไทย

4585_20130221151757.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCBEIC จากข้อมูล International Rubber Study Group

 

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ผู้ประกอบการควรร่วมมือกันจัดตั้งระบบออกใบรับรองไม้ยางพารา เพื่อให้สอดคล้องกับระบบ Due Diligence เนื่องจากวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด ในการที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกไม้ยางพาราไป EU สามารถปฏิบัติตามกฎของ EU ที่จะบังคับใช้ในต้นเดือนมีนาคม ในขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งเจรจาจัดทำข้อตกลง VPA เพื่อที่จะสามารถได้สิทธิในการออก FLEGT License ปัจจุบันไทยยังไม่ได้เริ่มเจรจา VPA กับ EU ในขณะที่อินโดนีเซีย ซึ่งมีอุปทานไม้ยางพารามากกว่าไทย (รูปที่ 4) และกำลังส่งเสริมธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราได้ดำเนินการเจรจาจนเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนเวียดนามและมาเลเซียอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ดังนั้นเพื่อที่จะรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันและสร้างมาตรฐานของไม้ยางพาราให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเร่งเจรจาข้อตกลง VPA กับ EU
  • นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะลงทุนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตพร้อมทั้งกระตุ้นให้ภาครัฐลงทุนเพื่อพัฒนาวิจัยพันธุ์ยางที่ให้ทั้งน้ำยางและไม้ยางควบคู่กันไป กระบวนการแปรรูปไม้ยางพาราในปัจจุบันใช้ความรู้จากประสบการณ์ของแรงงานเป็นหลัก ส่งผลให้การผลิตไม่มีมาตรฐานที่สม่ำเสมอและมีอัตราการสูญเสียไม้ค่อนข้างสูง ประกอบกับภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือในโรงงานแปรรูป ผู้ประกอบการจึงควรลงทุนเพื่อนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในโรงงานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นให้ภาครัฐลงทุนวิจัยพัฒนาพันธุ์ยางที่ให้ทั้งไม้และน้ำยางในอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านอุปทานไม้ยางพาราให้แก่ธุรกิจในอนาคตแล้ว ยังเป็นการช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

ผู้เขียน: เกียรติศักดิ์ คำสี

ที่มา: https://www.scbeic.com/th/detail/product/399