Engineering Today ปีที่ 2 ฉบับที่ 19 กรกฎาคม 2547

วารสาร : Engineering Today
ฉบับ : ปีที่ 2 ฉบับที่ 19 กรกฎาคม 2547
เรื่องเด่นในฉบับ :
• ระบบนั่งร้านก่อสร้าง แบบเคลื่อนที่ได้ ในโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม
• ข้อปฏิบัติและแนวทางในการรื้อถอนอาคารใหญ่
• การสร้างมาตรฐานแห่งชาติทางวิศวกรรม
• สารสนเทศสนับสนุนการควบคุมปฏิบัติการโรงงาน
• การตื่นตัวสู่ความเป็นหนึ่งด้วย Menufacturing
• ไขคำตอบหาวิสัยทัศน์ CEO Insight กุญแจสำคัญแห่งการบริหาร
ราคา : 80.00 บาท


คอลัมน์ : In Trend
ชื่อเรื่อง : ข้อปฏิบัติและแนวทางในการรื้อถอนอาคารใหญ่

จากเหตุการณ์ตึกนิวเวิลด์ถล่มเมื่อเร็วๆ นี้ กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูแลเรื่องนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าตึกนิวเวิลด์ บางลำพู มีการก่อสร้างต่อเติมผิดแผกไปจากที่ขออนุญาตไว้ สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ จนกระทั่ง กทม. มีคำสั่งให้รื้อถอน แต่ด้วยความล้าสมัยของกฎหมายบางฉบับและความยืดเยื้อในกระบวนการทางศาล ทำให้การรื้อถอนอาคารดังกล่าว ยืดเยื้อเป็นเวลานานถึง 19 ปี ตึกบางส่วนยังคงเปิดใช้งาน โดยที่ผู้ใช้งานก็ไม่ล่วงรู้ถึงภัยที่จะเกิดขึ้น จนกระทั่งเกิดอุบัติภัยในที่สุด

กรณีตึกนิวเวิลด์ถล่ม จึงนับเป็นกรณีศึกษาและบทเรียนครั้งสำคัญที่แสดงถึงความละเลยต่อ การปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในการรื้อถอน หรือทุบทำลายอาคาร รวมทั้งการก่อสร้างต่อเติมที่ผิดไปจากแบบจนเกิดอุบัติเหตุครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งแต่ละครั้งก็ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมเมืองที่จะประกอบกิจกรรมภายในอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่

ถึงเวลานี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเด็นการรื้อถอน หรือทุบทำลายอาคาร รวมทั้งการก่อสร้างต่อเติมที่ถูกต้อง จะถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง เพื่อสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในการดำเนินงาน โดยที่แนวทางและ ขั้นตอนกำหนดแนวทางและขั้นตอนการรื้อถอน ทุบทำลายอาคารวิบัติในรูปแบบลักษณะต่างๆ ในแต่ละอาคารจะต้อง ตั้งอยู่บนฐานความถูกต้องทางหลักวิชาการด้านวิศวกรรม ประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาของผู้ควบคุมงาน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้การรื้อถอนอาคารขนาดใหญ่มีความปลอดภัยมากขึ้น

สภาวิศวกร แจงตึกนิวเวิลด์ ไม่มีวิศวกรควบคุมงานจริง

คุณประสงค์ ธาราไชย เลขาธิการ สภาวิศวกร ได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อนายนาวิน เนื่องตุ้ย เลขทะเบียน สย.4387 วิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง รื้อถอนตึกนิวเวิลด์ พบว่า ชื่อนายนาวิน เนื่องตุ้ย ไม่ปรากฏ อยู่ในฐานข้อมูลของสภาวิศวกร ส่วนเลขทะเบียน สย.4387 เป็นใบอนุญาตของนายมานะ พีระประสมพงษ์ มิใช่นายนาวิน เนื่องตุ้ย แต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการแอบอ้าง ชื่อวิศวกร เมื่อมีการขออนุญาตก่อสร้างหรือรื้อถอนใดๆ ควร ขอความร่วมมือไปยังภาครัฐ โดยเฉพาะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ตรวจสอบชื่อบุคคลที่ได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ออกแบบหรือผู้ควบคุมงานก่อสร้างได้ หรือทำการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ www.coe.or.th ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่จะป้องกัน มิให้เกิดการแอบอ้าง ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายและความ ไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินและชีวิตได้

เร่งผลักดันกฎหมายแม่บท ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพงานก่อสร้าง

พร้อมกันนี้ สภาวิศวกรได้จัดให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารสูง เช่น การรับน้ำหนักของอาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และการรื้อถอนอาคารเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนรักษาสิทธิเรื่องความปลอดภัย โดยเป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบความปลอดภัยในอาคารต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความปลอดภัยในการดำเนินงานก่อสร้าง

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมอาคารทั้งสามฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2543 แต่อย่างไรก็ตามก็ควรจะมี พ.ร.บ. ควบคุมวิชาชีพการ ก่อสร้างด้วย เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ในงานก่อสร้าง ทั้งนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการหรือผลักดันให้มี กฎหมายแม่บทที่มีผลบังคับใช้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป

ว.ส.ท. กวดขันวิศวกรตรวจสอบ ความปลอดภัยในการรื้อถอนอาคาร

ทางด้าน รศ.ต่อตระกูล ยมนาค นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ว.ส.ท. ได้ออกประกาศที่ 80/2547 แจ้งเตือนสมาชิกของ ว.ส.ท. ให้ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอาคารที่กำลังดำเนินการรื้อถอน นับเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอมาตรการหรือระเบียบทางราชการ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพังทลายของตึกนิวเวิลด์ที่เกิดขึ้น มิใช่เป็นเรื่องของอุบัติเหตุ แต่ในทางวิศวกรรมถือว่ามีผลมาจากการดำเนินการรื้อถอนที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันได้โดยวิศวกร ซึ่งมีหน้าที่เป็นทั้งผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

“ดังนั้น ว.ส.ท. จึงขอแจ้งให้วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนอาคาร ได้เร่งตรวจสอบขั้นตอนการรื้อถอน ความแข็งแรงของโครงสร้างในขณะรื้อถอน และมาตรการป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและอาคารโดยเร็วที่สุด”

สำหรับวิศวกรที่เซ็นชื่อเป็นผู้ควบคุมงานรื้อถอน ถือเป็นสิทธิและความรับผิดทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของวิศวกร แต่ละท่าน ตาม พ.ร.บ. วิศวกร พ.ศ. 2542 ดังนั้น ก่อนลงนาม วิศวกรจะต้องแน่ใจว่ามีเวลาและความสามารถในการที่จะปฏิบัติงานได้เต็มที่ หากลงนามแล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม วิศวกรผู้นั้นจะต้องแจ้งข้อขัดข้อง และข้ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสาธารณชนให้หน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบทันที พร้อมทำสำเนาแจ้งให้ ว.ส.ท. ทราบด้วย

ชี้นิวเวิลด์ถล่มไม่ใช่อุบัติเหตุ

รศ. ดร.สุขุม สุขพันธ์โพธาราม เลขาธิการ วิศวกรรม สถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าว เสริมว่า เหตุการณ์ตึกนิวเวิลด์ถล่มที่บางลำพู เกิดขึ้นจากการละเลยในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย โดยอาศัย ช่องโหว่ของกฎหมาย ประกอบกับผู้ประกอบการก็ขาดจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากศาลฎีกาตัดสินให้เจ้าของอาคารรื้อถอนเฉพาะส่วนบนของอาคาร และคงส่วนล่างไว้ ทำให้เจ้าของมีสิทธิใช้พื้นที่ ด้านล่าง ซึ่งเป็นเรื่องยากในการรื้อถอนอาคารให้ปลอดภัยแก่ ผู้คนที่ทำกิจกรรมอยู่ข้างล่าง ทั้งนี้ ตามหลักการรื้อถอนอาคารอย่างปลอดภัย ควรจะระงับการใช้งานในอาคาร

“สมมติว่าถ้าวาดภาพให้ กทม. เข้าไปรื้อ ข้างล่าง ก็ไม่ปิด จะรื้อก็รื้อลำบาก ไม่มีใครกล้าไปรื้อ เพราะเขายัง มีสิทธิขาย กรณีที่มีเศษอะไรตกลงมา ก็กลายเป็นว่าไม่ สามารถที่จะรื้อได้ ตรงนี้เป็นจุดอ่อน ถ้าเป็นอย่างนี้ อาคาร อื่นๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน ก็จะทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะการรื้อถอนอาคารแบบนี้ ควรที่จะระงับการใช้ อาคารเลย ข้างล่างนี้ก็ห้ามด้วย เพราะถือว่าเป็นอาคาร ไม่ปลอดภัย”

เสนอจัดทำมาตรฐานรื้อถอนอาคารแห่งชาติ แจกจ่ายให้ประชาชนได้ทราบ

เหตุการณ์ตึกนิวเวิล์ดถล่มที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของอุบัติเหตุแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ ซึ่ง ว.ส.ท. ในฐานะองค์กรเพื่อส่งเสริมวิชาชีพวิศวกร ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเข้ามาดูแลและรับผิดชอบ และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะจัดทำมาตรฐานรื้อถอนอาคารแห่งชาติ

“เราควรมีการจัดทำมาตรฐานการรื้อถอนอาคาร แห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงแนวทางและขั้นตอนการรื้อถอนอาคารที่ถูกต้อง เพื่อมิให้การรื้อถอนอาคารส่งผลกระทบต่อ สภาพแวดล้อมและอาคารอื่นในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการใช้พื้นที่ต่างๆ ของอาคาร ซึ่งมาตรฐานการรื้อถอนอาคารที่จัดทำขึ้นนั้นควรเผยแพร่และแจกจ่ายให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป”

ขออนุญาตก่อสร้างตึก 4 ชั้น กลับต่อเติมเพิ่มถึง 11 ชั้น

คุณสืบศักดิ์ พรหมบุญ กรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรม ราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ประกอบการ ได้ตั้งใจออกแบบตึกนิวเวิลด์ให้เป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ความสูง 11 ชั้น มีเนื้อที่รวมประมาณ 70,000 ตารางเมตร แต่เนื่องจากผู้ประกอบการทราบถึงเทศบัญญัติเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีสาระสำคัญที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 4 ชั้นในบริเวณ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ผู้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น ขนาด 65 x 117 เมตร รวมเนื้อที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ในปี พ.ศ. 2526 หรือเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

ภายหลังจากที่เทศบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศใช้ ทางผู้ประกอบการได้พยายามยื่นเรื่องขอดัดแปลงเป็นอาคาร 7 ชั้น แต่ กทม.ปฏิเสธ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ ก็ยังดึงดันก่อสร้างต่อเติมถึงชั้น 11 ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2528 เทศบาลกรุงเทพมหานครได้ฟ้องร้องให้ผู้ประกอบการ รื้อถอนส่วนต่อเติมจากชั้น 5 ถึงชั้น 11 ระหว่างนั้นได้มีการ ฟ้องร้องกันไปมา จนกระทั่งศาลฎีกาตัดสินคดีเมื่อปี พ.ศ. 2537 ให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนให้เหลือเพียง 4 ชั้น ตามเดิม

เผยต้นเหตุละเลยกฎหมาย เกิดจากผลประโยชน์ล้วนๆ

แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนอาคารในปี พ.ศ. 2537 แต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการไม่ได้ทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในเทศบัญญัติ โดยยื่น ขออนุญาตรื้อถอนอาคารแต่อย่างใด อีกทั้งยังเปิดใช้งานบางส่วนของอาคารตามปกติ ต่อเมื่อ กทม. จะเข้าไปดำเนินการรื้อถอน ยังอ้างถึงคำสั่งศาลฎีกาว่าทางผู้ประกอบการเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการรื้อถอน จนกระทั่งเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่ผ่านมา กทม. เริ่มฟ้องบังคับคดีให้ผู้ประกอบการรื้อถอนอาคาร หากผู้ประกอบการไม่ทำตาม ทาง กทม. จะทำการรื้อถอนเอง โดยใช้งบประมาณการรื้อถอนของ กทม. เอง

“ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ กทม. ประเมินราคาการ รื้อถอนตึกนิวเวิลด์ที่ 36 ล้านบาท จากนั้นมีการต่อรองขึ้น กทม. จึงลดราคาประเมินเหลือ 20 ล้านบาท และดำเนินการตั้งงบประมาณแล้ว แต่ปรากฏว่าทางผู้ประกอบการกลับ แจ้งว่า หากรื้อถอนอาคารด้วยตนเอง จะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 10 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบจากเขตพระนคร บริษัท แก้วฟ้า ช็อปปิ้ง อาเขต จำกัด ขายชั้น 5-11 ให้บริษัท สุณิสาก่อสร้าง แอนด์ ซัพพลายส์ จำกัด 12 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัท สุณิสาฯ เป็นผู้รื้อถอนอาคาร จนเกิดอุบัติภัยดังกล่าว หากพิจารณาตรงนี้เป็นสาระสำคัญ จะเห็นว่ามีเรื่องของ ผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จนละเลยเรื่องความปลอดภัย”

“คนที่มีหน้าที่รื้อ ก็รื้อโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่คำนึงถึงกติกา และกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญขณะที่ รื้อถอนควรจะหยุดใช้อาคาร แต่ยังเปิดใช้ จึงเกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายกลับเป็นบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่มีส่วน เกี่ยวข้องใดๆ กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น จริงๆ ตึกในกรุงเทพ มหานครผิดกฎหมายเยอะ แต่กรณีตึกนิวเวิลด์เห็นชัดว่า ผิดกฎหมาย ถ้ากฎหมายยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ ผมเชื่อว่าอีกไม่นานนี้ ศูนย์การค้าในเขตพระนครจะต้องโดนในลักษณะนี้อีกเยอะ”

ตึกนิวเวิลด์ใช้วัสดุกึ่ง Pre-Fabrication ตัดและถอดได้ทุกชิ้น

อย่างไรก็ตาม โดยโครงสร้างของตึกนิวเวิลด์ถือเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้วัสดุกึ่ง Pre-Fabrication มีพื้น สำเร็จรูปเป็นรูปตัว T ซึ่งสามารถรื้อถอนได้โดยการตัดตัวอาคารออกเป็นชิ้นๆ เนื่องจากวัสดุก่อสร้างที่ใช้สามารถถอดได้ทุกชิ้นและตัดทีละชิ้น พร้อมติดตั้ง Tower Crane ตัวหนึ่งไว้ตรงกลาง เพื่อให้ง่ายต่อการลำเลียงเศษวัสดุจากชั้นบนลงย่อยที่ชั้นล่างได้ ซึ่งการรื้อถอนด้วยวิธีการดังกล่าวมีความปลอดภัย และไม่น่า จะมีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีน้ำหนักของเศษวัสดุ สะสมอยู่ชั้นบน ทำให้ไม่มีน้ำหนักเหลืออยู่ในตัวอาคาร ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี

ชี้ตึกนิวเวิลด์ถล่มเพราะคานแอ่น เหตุรับน้ำหนักมากเกินไป

คุณมั่น ศรีเรือนทอง รองประธาน คณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม วิศวกรรมสถานแห่ง ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า การ รื้อถอนตึกนิวเวิลด์ที่บางลำพู เจ้าของอาคารได้ว่าจ้างให้บริษัท สุณิสาก่อสร้าง แอนด์ ซัพพลายส์ จำกัด เป็นผู้รื้อถอน ซึ่ง บริเวณที่เกิดเหตุต้องยอมรับว่ามีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างแออัดพอสมควร มีผู้คนสัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก บริเวณรอบด้านของอาคารมีความกว้างประมาณ 6-8 เมตรเท่านั้น หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม ได้มีคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เลิกใช้อาคารดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ การถล่มของอาคารนิวเวิลด์ ซึ่งเป็นอาคารที่มี โครงสร้างเหล็ก อาจเกิดจากการแอ่นตัวของคาน ทำให้พื้น หลุดออกจากคานและพังลงมา เพราะพื้นและคานที่เป็น โครงสร้างของตึกต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่า Yield Point ที่ ออกแบบไว้ ส่งผลให้เกิดการเทน้ำหนักลงไปข้างล่างต่อเนื่องกันไป ซึ่งเกิดจากวิธีการดำเนินการรื้อถอนที่ผิดหลักวิชาการอย่างร้ายแรง เพราะทำการดัมพ์เศษวัสดุจากชั้นบนลงมายังชั้นล่าง โดยการเจาะพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมและใช้รถแบ็กโฮดัมพ์เศษวัสดุก่อสร้างที่รื้อถอนจากอาคารผ่านลงมาทางพื้นที่เจาะเป็นช่อง สี่เหลี่ยมเอาไว้ เป็นการขนถ่ายเศษวัสดุก่อสร้างจากชั้น 11 ลงมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงชั้น 5 ซึ่งกองเศษวัสดุก่อสร้างจากการรื้อถอนแต่ละชั้นนั้นมีจำนวนมาก ทำให้มีกองเศษวัสดุจำนวนมาก จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพบกับกองเศษวัสดุจากการรื้อถอนกองสูงประมาณสองเมตรจากพื้นอาคารของแต่ละชั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้อาคารถล่ม

แจงจะรื้อถอนอาคารแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับโครงสร้างการออกแบบอาคาร

ขณะเดียวกัน คุณชูชาติ วราหกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้าน การรื้อถอนอาคาร บริษัท แท็คทีม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวว่า ผลพวงจากการพัฒนาทางด้านการออกแบบ ส่งผลให้รูปแบบของอาคารในปัจจุบันมีความหลากหลายทางโครงสร้างมากขึ้น ทำให้วิธีการรื้อถอนอาคารหลากหลายตามไปด้วย โดยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของการออกแบบอาคารเป็นหลัก ซึ่งเดิมทีการ รื้อถอนอาคารส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนในการรื้อถอน เนื่องจากอาคารมีความสูงไม่มากนัก แต่ในยุคปัจจุบันด้วยรูปแบบ โครงสร้างของอาคารที่มีการออกแบบที่หลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทันสมัย ทำให้วิธีการรื้อถอนอาคารและลำดับขั้นตอนการรื้อถอนของ แต่ละอาคารมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น อย่างยิ่งที่วิศวกรจะต้องเข้าไปควบคุมการดำเนินงาน

ทั้งนี้ จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับขั้นตอน และแนวทางในการรื้อถอนอย่างถูกต้องมากเป็นพิเศษ ได้แก่ อาคารขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงมากกว่า 5 ชั้นขึ้นไป อาคารวิบัติ และอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นต้น โดยที่แต่ละอาคาร จะมีวิธีการทำลายที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากวิวัฒนาการ ของการออกแบบอาคาร ซึ่งทำให้การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

“การรื้อถอนอาคารนั้นตรงกันข้ามกับการสร้างบ้าน เนื่องจากการสร้างบ้านนั้นจะต้องสร้างจากดินขึ้นไปข้างบน แต่การรื้อถอนอาคารนั้นต้องรื้อถอนจากข้างบนลงมาข้างล่าง เว้นแต่จะมีการใช้เทคนิคพิเศษ เช่น การระเบิดอาคาร ซึ่งการระเบิดอาคารนั้นต้องทำการระเบิดจากข้างล่าง เพื่อลดความ แข็งแรงของด้านล่างของโครงสร้างอาคาร ก่อนที่จะระเบิด ส่วนบนขึ้นไปเรื่อยๆ ในเวลาใกล้เคียงกัน”

รื้อถอนอาคารสูง เพื่อถ่ายเทน้ำหนักกันอาคารถล่ม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมายังมีการทรุดตัวของอาคารที่ต้องทำการรื้อถอนอีกหลายแห่ง รวมถึงอาคารสาธารณสุขของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับบริเวณที่จะทำการรื้อถอนมีรถยนต์และยานพาหนะสัญจรผ่านไปมาตลอดเวลา ในการดำเนินการรื้อถอนจึงต้องสร้างสิ่งป้องกันเป็นโครงเหล็กหรือสังกะสี เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ การรื้อถอนอาคารดังกล่าวจะต้องทุบทำลายอาคารข้างบน เพื่อ นำคอนกรีตออก ทำให้มีเศษปูนลงมาข้างล่าง แล้วค่อยลำเลียงออกจากตัวอาคาร เพื่อไม่ให้มีการสะสมของปริมาณคอนกรีตที่ทุบทำลายในแต่ละชั้น จนเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวอาคาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่นเดียวกับการรื้อถอนอาคารสูงที่ต้อง ทำการทุบทำลายคอนกรีตข้างบนก่อนแล้วจึงลำเลียงคอนกรีต ลงมาข้างล่าง จากนั้นจึงจะขนถ่ายเศษวัสดุที่ทุบทำลายออกจากอาคาร ก่อนที่จะทุบทำลายพื้นชั้นบนของอาคาร ซึ่งถือเป็นวิธีการถ่ายเทน้ำหนัก เพื่อมิให้เกิดการถล่มของตัวอาคาร โดย ในระหว่างการรื้อถอนอาคารจะต้องมีแผงป้องกันเศษวัสดุ ตกหล่น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการรื้อถอนอาคาร

แนะใช้ลิฟต์ขนถ่ายเศษวัสดุ ออกจากตัวอาคารขนาดใหญ่ได้

สำหรับการขนถ่ายเศษวัสดุออกจากตัวอาคาร หากเป็นอาคารขนาดใหญ่สามารถขนถ่ายเศษวัสดุผ่านทางช่องลิฟต์ เนื่องจากลิฟต์เป็นโครงสร้างที่สามารถรับน้ำหนักของโครงสร้างได้ดี เพราะฐานลิฟต์มีขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเทเศษปูนหรือเศษวัสดุผ่านลงไปทางช่องลิฟต์ ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เศษวัสดุหรือเศษปูนกระเด็นออกมาข้างนอกได้ ซึ่งก่อนที่จะนำเศษวัสดุหรือเศษปูนลงไปในช่องลิฟต์ จะมีการฉีดน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

การขนถ่ายเศษวัสดุหรือเศษปูนมายังช่องลิฟต์ เพื่อลำเลียงสู่ชั้นล่างจะอาศัยรถบล็อกแคปเป็นเครื่องมือในการขนตักเศษวัสดุดังกล่าว ขณะเดียวกันช่องลิฟต์ที่ชั้นล่างก็จะต้องมี รถบล็อกแคปอีกคันหนึ่งทำหน้าที่ตักเศษวัสดุที่ถูกส่งมาที่ ชั้นล่างออกจากตัวอาคาร โดยรถบล็อกแคปทั้งสองคันจะต้องทำงานอย่างสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้ปริมาณคอนกรีตสะสมมาก จนเกินไป ดังนั้น การทำงานดังกล่าวจึงต้องมีการวางแผนและควบคุมการทำงานอย่างดีโดยวิศวกร เพื่อความถูกต้องตาม หลักวิชาการ และความปลอดภัยขณะทำการรื้อถอน ซึ่งการรื้อถอนอาคารด้วยวิธีดังกล่าวนี้ถูกนำไปใช้กับการรื้อถอนอาคารอื่นๆ ได้แก่ อาคารไทยไดมารู ย่านราชประสงค์ หรืออาคารอื้อจื่อเหลียง ถนนพระราม 4 เป็นต้น

เร่งคลอดกฎหมายตรวจสอบ ความปลอดภัยของอาคาร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีมาตรการเชิงรุกทางด้านกฎหมาย โดยกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงควบคุมอาคารมาตรา 32 (ทวิ) ซึ่งระบุถึงการตรวจสอบอาคาร เพื่อ ดูการใช้งานของอาคาร สภาพของอาคาร ความปลอดภัย ทางอาคาร โดยให้มีการต่อใบอนุญาตทุกปีจากบริษัทวิศวกร ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ และให้ความเห็นเพื่อสร้างความถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ประชาชน

ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจทานแล้ว และส่งกลับที่กรมโยธาธิการและ ผังเมือง เพื่อทำการแก้ไข ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งให้ กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ถูกต้อง มีผลปฏิบัติโดยด่วน เพื่อให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบอาคารหลายร้อยแห่ง ในกรุงเทพฯ ที่มีสถานะเหมือนนิวเวิลด์ บางลำพู เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นอกจากมาตรการบังคับทางกฎหมายแล้ว ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรจะมีนโยบายจูงใจให้เจ้าของอาคารมีจิตสำนึก ก่อสร้างอาคารตามแบบที่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารไว้ และใช้งานอาคารให้ถูกต้องตามแบบที่สร้าง ซึ่งอาจจะใช้วิธีตรวจสอบอาคาร เพื่อบอกระดับชั้นหรือคุณภาพความปลอดภัยของอาคาร มอบประกาศนียบัตรจากผู้ตรวจอาคาร ที่ได้รับการรับรองจากกรมโยธาธิการและผังเมืองให้อาคารที่มีความปลอดภัย พร้อมกันนี้ได้ร่วมมือกับกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ สร้างนโยบายทำดีจ่ายเบี้ยประกันถูก ซึ่งจะเป็นดัชนีในการจ่ายเบี้ยประกัน อาคารที่มีระดับคุณภาพความปลอดภัยสูงหรือต่ำจะมีผลต่ออัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยด้วย

อุบัติภัยที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า น่าจะมีส่วนกระตุ้น ให้วิศวกรและผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการรื้อถอนอาคารมากขึ้น โดยที่วิศวกรหรือ ผู้ควบคุมงานจะต้องนำประสบการณ์ที่มีอยู่พิจารณาหาวิธีการรื้อถอนหรือทุบทำลายอาคาร ซึ่งมีโครงสร้างและรูปแบบที่ แตกต่างกันออกไป บนพื้นฐานของความถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้คนรอบข้างให้มากที่สุด

สภาวิศวกรและ ว.ส.ท. พร้อมร่วมมือภาครัฐ ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์

รศ.ฉดับ ปัทมสูต นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรมีหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมการประกอบวิชาชีพวิศวกร พร้อมเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ สภาวิศวกรจะเร่งดูแลการทำงานของวิศวกรอย่างเข้มงวดมากขึ้น ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ควรจะ ดำเนินการทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น

“อยากจะฝากถึงรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย ควรจะกำหนดนโยบายให้พนักงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งดำเนินงานในเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่สภาวิศวกร และ ว.ส.ท. ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ”


กรณีศึกษาอาคารทรุดตัวบริเวณ คลองแสนแสบ

เนื่องจากแต่ละอาคารมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทำให้วิธีการรื้อถอนอาคารแตกต่างกัน จึงต้องอาศัยความรู้ ทางวิศวกรรมในการควบคุมการดำเนินงาน ซึ่งจากกรณีศึกษาที่ผ่านมา ได้แก่ อาคารทรุดตัวที่คลองแสนแสบ บางกะปิ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีพื้นที่รอบข้างจำกัดมากไม่สามารถใช้เครื่องมือเข้าไปช่วยในการรื้อถอนได้ จึงต้องอาศัยแรงงานในการรื้อถอนและทุบทำลายอย่างเดียวเท่านั้น อีกทั้ง ตัวอาคารเอียงมากโอกาสที่อาคารจะ Slide ล้มลงมาสูง ดังนั้น วิธีการทางวิศวกรรมที่จะทำลายอาคารแห่งนี้ จึงต้องพยายามให้จุดศูนย์ถ่วงเข้าไปข้างในให้มากที่สุด เพื่อให้โอกาสการล้มคว่ำลงไปข้างหน้าของตัวอาคารมีน้อยลง รวมทั้งลำเลียงเศษปูนหรือเศษวัสดุที่ทุบทำลายออกจากตัวอาคารที่มีลักษณะการทรุดตัวดังกล่าวให้เร็ว ที่สุด เพื่อจะได้ลดน้ำหนักของตัวอาคาร

ที่มา : การบรรยายพิเศษเรื่อง “ข้อปฏิบัติและแนวทางในการ รื้อถอนอาคารขนาดใหญ่” จัดโดยคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.)

 

ชื่อผู้เขียน : ภิญญาภรณ์ ชาติการุณ