Archives for รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

ประมาณราคางานซ่อมแซมที่อยู่อาศัย

ประมาณราคางานซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
ลำดับ รายการ หน่วย ค่าแรง
(บาท)
ค่าวัสดุ
(บาท)
วัสดุ+ค่าแรง
(บาท)
หมายเหตุ
1 งานทรายล้าง หินขัด หินอ่อน
• ล้างกรดเกลือ ทรายล้าง  กรวดขาว ตรม. 50
• วัสดุเคลือบผิว ทรายล้าง, หินจิ๊กซอว์ ตรม. 80-100
• ขัดลอกหน้า + เคลือบผิว หินขัด, หินอ่อน ตรม. 300-400
2 งานกระเบื้องพื้น -ผนัง
• รื้อถอน, สกัดพื้น-ผนัง ตรม. 30-50
• ปูกระเบื้อง + ยาแนว พื้น-ผนัง ตรม. 150-250 150-500 ค่าแรงรวมค่าปูนทราย
และค่าปูกระเบื้องแล้ว
• บัวเชิงผนัง ตรม. 30-40 25-50 65-90
3 งานประปา และสุขภัณฑ์
• ติดตั้งปั้มน้ำ 1 ชุด 1,500-3,000 4,000-15,000 ค่าแรงรวมรื้อถอน
ของเดิมแล้ว
• รื้อชักโครก, ติดตั้งชักโครก 1 ตัว 400-600 1,500-18,000
• รื้อ, ติดตั้งอ่างล้างหน้าพร้อมอุปกรณ์ 1 ชุด 300-500 500-4,500
• เปลี่ยนสายชำระ 1 ชุด 50 120-500
• เปลี่ยนสต๊อปวาล์ว ,ชักโครก, สายชำระ 1 จุด 50 120-250
4 เคาน์เตอร์ครัว
• เปลี่ยนบานซิงค์ PVC (ชุดละ 2 บาน) 1 ชุด 400-1,000 1,800-6,000 รวมวงกบ
• เปลี่ยนบานซิงค์ไม้ (ชุดละ 2 บาน) 1 ชุด 400-1,500 2,000-7,000 รวมวงกบ
• เปลี่ยนก๊อกซิงค์ครัว+อุปกรณ์ 1 ชุด 200-600 800-3,000 ค่าแรงรวมค่ารื้อถอน
ของเดิมแล้ว
5 งานไฟฟ้า
• ปลั๊กไฟ 1 จุด 550 วัสดุคุณภาพปานกลาง
รวมค่าสายไฟ
และอุปกรณ์
และรวมค่ารื้อถอน
ของเดิมแล้ว
• สวิตซ์ไฟ 1 จุด 550
• จุดเชื่อมต่อโทรทัศน์ 1 จุด 700
• จุดเชื่อมต่อโทรศัพท์ 1 จุด 650
• เบรกเกอร์แอร์ 1 จุด 1,200
• เบรกเกอร์ปั๊มน้ำ (แบบกันน้ำ) 1 จุด 1,200
• ออด + สวิตซ์ออด 1 จุด 1,500-2,500 ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง
จากตัวบ้านถึงหน้าบ้าน
• ไฟหัวเสา 1 จุด 1,500-2,500
6 งานประตู
• เปลี่ยนบานประตูติดบานพับ+ใส่ลูกบิด
(บาน 70-90 cm)
บาน 150-250 550-5,000 700-5,200 วัสดุมีหลากหลาย
PVC,UPVC,MPF,HPF,
ไม้เต็ง,ไม้แดง,ไม้สัก
• บานพับแสตนเลส 1 ตัว 50-150 รวมค่ารื้อถอน
ของเดิมแล้ว
• ลูกบิด 1 ชุด 150-2,000
• ติดบานหน้าต่างไม้ 1 บาน 120-200 450-3,000 วัสดุที่เป็นไม้
มีหลายคุณภาพ
7 งานบันได
• เปลี่ยนลูกนอนบันได 1 ขั้น 150-300 280-1,200 วัสดุที่เป็นไม้
มีหลายคุณภาพ
• เปลี่ยนลูกตั้งบันได 1 ขั้น 100-200 80 -600
• เปลี่ยนราว + ลูกกรงบันได 1 เมตร 200-400 700-3,000
• เปลี่ยนเสาบันไดขนาด 4″ *4″ 1 ต้น 150-300 600-2,000
8 งานสี
• สีรองพื้นปูนเก่า (ขัดล้าง) ตรม. 30 30-50 60-80 วัสดุราคาปานกลาง
• สีภายใน ตรม. 40-55 35-50 75-105
• สีภายนอก ตรม. 50-65 55-70 105-135
• เหล็กดัด เหล็กรั้ว รวมสีกันสนิม ตรม. 50-65 35-50 85-115
9 งานฝ้าเพดาน
•  วัสดุ + ค่าแรง + รื้อโครง ตรม. 300 รวมค่ารื้อถอน
ของเดิมแล้ว

สมมุติฐาน เป็นบ้านพักอาศัย ซึ่งผนังก่ออิฐฉาบปูน หรือเป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก น้ำท่วมถึงเฉพาะชั้นล่างเท่านั้น

ข้อแนะนำ

  1. ควรรวมกันหลายหลังในการจ้างเหมาซ่อมแซม เพื่อให้ได้ต้นทุนค่าซ่อมแซมที่ถูกลง และผู้รับเหมาก็จะมีปริมาณงานเพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือจัดหาที่พักบริเวณใกล้เคียง
  2. วัสดุซึ่งซื้อได้ง่ายตามร้านวัสดุก่อสร้างโดยทั่วไป และมีความแตกต่างกันหลายคุณภาพ หรือหลายราคา ก็ควรจัดซื้อวัสดุเอง เช่น กระเบื้อง บานประตู ลูกบิดและอุปกรณ์ สีภายใน สีภายนอก
  3. วัสดุซึ่งมีวัสดุอุปกรณ์ประกอบอีกหลายชนิด หรือยุ่งยากในการจัดซื้อเอง เช่น อุปกรณ์ไฟ ซึ่งประกอบด้วยสายไฟหลายขนาด ฝ้าเพดานซึ่งขนย้ายยาก และมีอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ หลายชนิด ซึ่งอาจไม่สามารถซื้อได้ตามร้านวัสดุทั่วไป (ควรจ้างเหมาทั้งค่าวัสดุและค่าแรงงาน)
  4. งานซ่อมสีควรให้ความชื้นหมดไปก่อน ทดสอบได้โดยใช้แผ่นพลาสติกใสปิด แล้วใช้เทปกาวปิดโดยรอบ หากมีละอองน้ำเกิดขึ้นแสดงว่ายังมีความชื้นอยู่
  5. กรณีมี Wall Paper ควรลอกทั้งหมด มิฉะนั้นในส่วนที่ไม่ถูกน้ำท่วมถึง ก็จะเกิดเชื้อราในอนาคตได้
  6. บัวเชิงผนังแม้จะดูว่าไม่มีเสียหาย แต่ควรรื้อออกก่อนเพื่อให้ความชื้นหมดไป แล้วจึงติดกลับเข้าไปใหม่

ที่มา: ประมาณการโดยสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

Read more

ค่าแรงงานรื้อถอนทั่วไป

ค่าแรงงานรื้อถอนทั่วไป
รายการ หน่วย ค่าวัสดุ ค่าแรงงาน (บาท) หมายเหตุ
มวลรวม(บาท) ไม่เกิน 5 ชั้น 6 ชั้นขึ้นไป
รื้อกระเบื้องหลังคาลอนคู่
– คิดเป็นแผ่น แผ่น 2 ถ้าน้อยกว่า 30 แผ่น
– คิดเป็นพื้นที่ ตร.ม. 5 แผ่นละ 5 บาท
รื้อกระเบื้องหลังคา + โครงหลังคาไม้
– หลังคาเพิง ตร.ม. 30 .
– หลังคาจั่ว,ปั้นหยา ตร.ม. 35 .
– รื้อฝ้าเพดาน (เฉพาะฝ้า) ตร.ม. 10 .
– รื้อฝ้าเพดาน + คร่าวไม้ ตร.ม. 20 .
– รื้อผนัง + คร่าวไม้ ตร.ม. 20 .
– รื้อวงกบประตู + หน้าต่าง รวมเหล็กดัด ตร.ม. 25 .
– รื้อผนังก่ออิฐ ตร.ม. 25 .
– รื้อผนัง ค.ส.ล. หนา 0.08 – 0.10 ม. ตร.ม. 45 .
– รื้อเสา + คาน ค.ส.ล.(โครงสร้าง ค.ส.ล.) ลบ.ม. 240 .
รื้อพื้น ค.ส.ล.หนา 0.08 – 0.10 ม.
– พื้นลอย ตร.ม. 40 .
– พื้นบนดิน ตร.ม. 30 .
– รื้อถนน ค.ส.ล. หนา 0.15 – 0.20 ม. ตร.ม. 50 .
– สกัดผิวผนังปูนฉาบ ตร.ม. 30 .
– สกัดผิวกระเบื้องเคลือบ, โมเสคบุผนัง ตร.ม. 30 .
– รื้อผิวพื้นกระเบื้องยาง ตร.ม. 15 .
– สกัดผิวพื้นหินขัด และ กระเบื้องเคลือบ ตร.ม. 45 .
– รื้อพื้น + คาน + ตงไม้ ตร.ม. 50 .
ตัดต้นไม้
– ลำต้นไม่เกิน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 ม. ต้น 300 .
– ลำต้นไม่เกิน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 – 0.50 ม. ต้น 650 .
– รื้อดวงโคม + สวิทซ์ + ปลั๊ก จุด 10 .
รื้อสุขภัณฑ์
– โถส้วม จุด 80 .
– อ่างล้างหน้า, sink จุด 80 .
– ที่ปัสสาวะ จุด 80 .
– รื้อเครื่องปรับอากาศ window type ชุด 100 .
– ทำความสะอาดผนัง ตร.ม. 7 .
– ขูดลอกสี ตร.ม. 8 .
– ขูดลอกสี + ทำความสะอาด ตร.ม. 12 .
– ขัดพื้นกระเบื้องยาง + ลง wax ตร.ม. 20 .
– ขัดพื้นไม้ + ทำความสะอาด ตร.ม. 30 ไม่รวมเคลือบผิว
รื้ออาคารชั้นเดียว
– อาคารไม้ ตร.ม. 50 .
– อาคารไม้ ค.ส.ล. ตร.ม. 100 .
รื้ออาคารไม่เกิน 3 ชั้น
– อาคารไม้ ตร.ม. 120 .
– อาคารไม้ ค.ส.ล. ตร.ม. 200 .
– รื้ออาคารตั้งแต่ 4 – 5 ชั้น – อาคาร ค.ส.ล. ตร.ม. 300 .
. . . . . .

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักอำนวยการ
กลุ่มออกแบบและก่อสร้าง

Read more

ข้อปฏิบัติและแนวทางในการรื้อถอนอาคารใหญ่

Engineering Today ปีที่ 2 ฉบับที่ 19 กรกฎาคม 2547

วารสาร : Engineering Today
ฉบับ : ปีที่ 2 ฉบับที่ 19 กรกฎาคม 2547
เรื่องเด่นในฉบับ :
• ระบบนั่งร้านก่อสร้าง แบบเคลื่อนที่ได้ ในโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม
• ข้อปฏิบัติและแนวทางในการรื้อถอนอาคารใหญ่
• การสร้างมาตรฐานแห่งชาติทางวิศวกรรม
• สารสนเทศสนับสนุนการควบคุมปฏิบัติการโรงงาน
• การตื่นตัวสู่ความเป็นหนึ่งด้วย Menufacturing
• ไขคำตอบหาวิสัยทัศน์ CEO Insight กุญแจสำคัญแห่งการบริหาร
ราคา : 80.00 บาท


คอลัมน์ : In Trend
ชื่อเรื่อง : ข้อปฏิบัติและแนวทางในการรื้อถอนอาคารใหญ่

จากเหตุการณ์ตึกนิวเวิลด์ถล่มเมื่อเร็วๆ นี้ กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูแลเรื่องนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าตึกนิวเวิลด์ บางลำพู มีการก่อสร้างต่อเติมผิดแผกไปจากที่ขออนุญาตไว้ สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ จนกระทั่ง กทม. มีคำสั่งให้รื้อถอน แต่ด้วยความล้าสมัยของกฎหมายบางฉบับและความยืดเยื้อในกระบวนการทางศาล ทำให้การรื้อถอนอาคารดังกล่าว ยืดเยื้อเป็นเวลานานถึง 19 ปี ตึกบางส่วนยังคงเปิดใช้งาน โดยที่ผู้ใช้งานก็ไม่ล่วงรู้ถึงภัยที่จะเกิดขึ้น จนกระทั่งเกิดอุบัติภัยในที่สุด

กรณีตึกนิวเวิลด์ถล่ม จึงนับเป็นกรณีศึกษาและบทเรียนครั้งสำคัญที่แสดงถึงความละเลยต่อ การปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในการรื้อถอน หรือทุบทำลายอาคาร รวมทั้งการก่อสร้างต่อเติมที่ผิดไปจากแบบจนเกิดอุบัติเหตุครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งแต่ละครั้งก็ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมเมืองที่จะประกอบกิจกรรมภายในอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่

ถึงเวลานี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเด็นการรื้อถอน หรือทุบทำลายอาคาร รวมทั้งการก่อสร้างต่อเติมที่ถูกต้อง จะถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง เพื่อสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในการดำเนินงาน โดยที่แนวทางและ ขั้นตอนกำหนดแนวทางและขั้นตอนการรื้อถอน ทุบทำลายอาคารวิบัติในรูปแบบลักษณะต่างๆ ในแต่ละอาคารจะต้อง ตั้งอยู่บนฐานความถูกต้องทางหลักวิชาการด้านวิศวกรรม ประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาของผู้ควบคุมงาน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้การรื้อถอนอาคารขนาดใหญ่มีความปลอดภัยมากขึ้น

สภาวิศวกร แจงตึกนิวเวิลด์ ไม่มีวิศวกรควบคุมงานจริง

คุณประสงค์ ธาราไชย เลขาธิการ สภาวิศวกร ได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อนายนาวิน เนื่องตุ้ย เลขทะเบียน สย.4387 วิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง รื้อถอนตึกนิวเวิลด์ พบว่า ชื่อนายนาวิน เนื่องตุ้ย ไม่ปรากฏ อยู่ในฐานข้อมูลของสภาวิศวกร ส่วนเลขทะเบียน สย.4387 เป็นใบอนุญาตของนายมานะ พีระประสมพงษ์ มิใช่นายนาวิน เนื่องตุ้ย แต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการแอบอ้าง ชื่อวิศวกร เมื่อมีการขออนุญาตก่อสร้างหรือรื้อถอนใดๆ ควร ขอความร่วมมือไปยังภาครัฐ โดยเฉพาะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ตรวจสอบชื่อบุคคลที่ได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ออกแบบหรือผู้ควบคุมงานก่อสร้างได้ หรือทำการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ www.coe.or.th ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่จะป้องกัน มิให้เกิดการแอบอ้าง ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายและความ ไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินและชีวิตได้

เร่งผลักดันกฎหมายแม่บท ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพงานก่อสร้าง

พร้อมกันนี้ สภาวิศวกรได้จัดให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารสูง เช่น การรับน้ำหนักของอาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และการรื้อถอนอาคารเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนรักษาสิทธิเรื่องความปลอดภัย โดยเป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบความปลอดภัยในอาคารต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความปลอดภัยในการดำเนินงานก่อสร้าง

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมอาคารทั้งสามฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2543 แต่อย่างไรก็ตามก็ควรจะมี พ.ร.บ. ควบคุมวิชาชีพการ ก่อสร้างด้วย เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ในงานก่อสร้าง ทั้งนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการหรือผลักดันให้มี กฎหมายแม่บทที่มีผลบังคับใช้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป

ว.ส.ท. กวดขันวิศวกรตรวจสอบ ความปลอดภัยในการรื้อถอนอาคาร

ทางด้าน รศ.ต่อตระกูล ยมนาค นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ว.ส.ท. ได้ออกประกาศที่ 80/2547 แจ้งเตือนสมาชิกของ ว.ส.ท. ให้ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอาคารที่กำลังดำเนินการรื้อถอน นับเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอมาตรการหรือระเบียบทางราชการ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพังทลายของตึกนิวเวิลด์ที่เกิดขึ้น มิใช่เป็นเรื่องของอุบัติเหตุ แต่ในทางวิศวกรรมถือว่ามีผลมาจากการดำเนินการรื้อถอนที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันได้โดยวิศวกร ซึ่งมีหน้าที่เป็นทั้งผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

“ดังนั้น ว.ส.ท. จึงขอแจ้งให้วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนอาคาร ได้เร่งตรวจสอบขั้นตอนการรื้อถอน ความแข็งแรงของโครงสร้างในขณะรื้อถอน และมาตรการป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและอาคารโดยเร็วที่สุด”

สำหรับวิศวกรที่เซ็นชื่อเป็นผู้ควบคุมงานรื้อถอน ถือเป็นสิทธิและความรับผิดทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของวิศวกร แต่ละท่าน ตาม พ.ร.บ. วิศวกร พ.ศ. 2542 ดังนั้น ก่อนลงนาม วิศวกรจะต้องแน่ใจว่ามีเวลาและความสามารถในการที่จะปฏิบัติงานได้เต็มที่ หากลงนามแล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม วิศวกรผู้นั้นจะต้องแจ้งข้อขัดข้อง และข้ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสาธารณชนให้หน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบทันที พร้อมทำสำเนาแจ้งให้ ว.ส.ท. ทราบด้วย

ชี้นิวเวิลด์ถล่มไม่ใช่อุบัติเหตุ

รศ. ดร.สุขุม สุขพันธ์โพธาราม เลขาธิการ วิศวกรรม สถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าว เสริมว่า เหตุการณ์ตึกนิวเวิลด์ถล่มที่บางลำพู เกิดขึ้นจากการละเลยในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย โดยอาศัย ช่องโหว่ของกฎหมาย ประกอบกับผู้ประกอบการก็ขาดจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากศาลฎีกาตัดสินให้เจ้าของอาคารรื้อถอนเฉพาะส่วนบนของอาคาร และคงส่วนล่างไว้ ทำให้เจ้าของมีสิทธิใช้พื้นที่ ด้านล่าง ซึ่งเป็นเรื่องยากในการรื้อถอนอาคารให้ปลอดภัยแก่ ผู้คนที่ทำกิจกรรมอยู่ข้างล่าง ทั้งนี้ ตามหลักการรื้อถอนอาคารอย่างปลอดภัย ควรจะระงับการใช้งานในอาคาร

“สมมติว่าถ้าวาดภาพให้ กทม. เข้าไปรื้อ ข้างล่าง ก็ไม่ปิด จะรื้อก็รื้อลำบาก ไม่มีใครกล้าไปรื้อ เพราะเขายัง มีสิทธิขาย กรณีที่มีเศษอะไรตกลงมา ก็กลายเป็นว่าไม่ สามารถที่จะรื้อได้ ตรงนี้เป็นจุดอ่อน ถ้าเป็นอย่างนี้ อาคาร อื่นๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน ก็จะทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะการรื้อถอนอาคารแบบนี้ ควรที่จะระงับการใช้ อาคารเลย ข้างล่างนี้ก็ห้ามด้วย เพราะถือว่าเป็นอาคาร ไม่ปลอดภัย”

เสนอจัดทำมาตรฐานรื้อถอนอาคารแห่งชาติ แจกจ่ายให้ประชาชนได้ทราบ

เหตุการณ์ตึกนิวเวิล์ดถล่มที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของอุบัติเหตุแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ ซึ่ง ว.ส.ท. ในฐานะองค์กรเพื่อส่งเสริมวิชาชีพวิศวกร ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเข้ามาดูแลและรับผิดชอบ และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะจัดทำมาตรฐานรื้อถอนอาคารแห่งชาติ

“เราควรมีการจัดทำมาตรฐานการรื้อถอนอาคาร แห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงแนวทางและขั้นตอนการรื้อถอนอาคารที่ถูกต้อง เพื่อมิให้การรื้อถอนอาคารส่งผลกระทบต่อ สภาพแวดล้อมและอาคารอื่นในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการใช้พื้นที่ต่างๆ ของอาคาร ซึ่งมาตรฐานการรื้อถอนอาคารที่จัดทำขึ้นนั้นควรเผยแพร่และแจกจ่ายให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป”

ขออนุญาตก่อสร้างตึก 4 ชั้น กลับต่อเติมเพิ่มถึง 11 ชั้น

คุณสืบศักดิ์ พรหมบุญ กรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรม ราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ประกอบการ ได้ตั้งใจออกแบบตึกนิวเวิลด์ให้เป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ความสูง 11 ชั้น มีเนื้อที่รวมประมาณ 70,000 ตารางเมตร แต่เนื่องจากผู้ประกอบการทราบถึงเทศบัญญัติเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีสาระสำคัญที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 4 ชั้นในบริเวณ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ผู้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น ขนาด 65 x 117 เมตร รวมเนื้อที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ในปี พ.ศ. 2526 หรือเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

ภายหลังจากที่เทศบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศใช้ ทางผู้ประกอบการได้พยายามยื่นเรื่องขอดัดแปลงเป็นอาคาร 7 ชั้น แต่ กทม.ปฏิเสธ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ ก็ยังดึงดันก่อสร้างต่อเติมถึงชั้น 11 ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2528 เทศบาลกรุงเทพมหานครได้ฟ้องร้องให้ผู้ประกอบการ รื้อถอนส่วนต่อเติมจากชั้น 5 ถึงชั้น 11 ระหว่างนั้นได้มีการ ฟ้องร้องกันไปมา จนกระทั่งศาลฎีกาตัดสินคดีเมื่อปี พ.ศ. 2537 ให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนให้เหลือเพียง 4 ชั้น ตามเดิม

เผยต้นเหตุละเลยกฎหมาย เกิดจากผลประโยชน์ล้วนๆ

แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนอาคารในปี พ.ศ. 2537 แต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการไม่ได้ทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในเทศบัญญัติ โดยยื่น ขออนุญาตรื้อถอนอาคารแต่อย่างใด อีกทั้งยังเปิดใช้งานบางส่วนของอาคารตามปกติ ต่อเมื่อ กทม. จะเข้าไปดำเนินการรื้อถอน ยังอ้างถึงคำสั่งศาลฎีกาว่าทางผู้ประกอบการเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการรื้อถอน จนกระทั่งเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่ผ่านมา กทม. เริ่มฟ้องบังคับคดีให้ผู้ประกอบการรื้อถอนอาคาร หากผู้ประกอบการไม่ทำตาม ทาง กทม. จะทำการรื้อถอนเอง โดยใช้งบประมาณการรื้อถอนของ กทม. เอง

“ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ กทม. ประเมินราคาการ รื้อถอนตึกนิวเวิลด์ที่ 36 ล้านบาท จากนั้นมีการต่อรองขึ้น กทม. จึงลดราคาประเมินเหลือ 20 ล้านบาท และดำเนินการตั้งงบประมาณแล้ว แต่ปรากฏว่าทางผู้ประกอบการกลับ แจ้งว่า หากรื้อถอนอาคารด้วยตนเอง จะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 10 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบจากเขตพระนคร บริษัท แก้วฟ้า ช็อปปิ้ง อาเขต จำกัด ขายชั้น 5-11 ให้บริษัท สุณิสาก่อสร้าง แอนด์ ซัพพลายส์ จำกัด 12 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัท สุณิสาฯ เป็นผู้รื้อถอนอาคาร จนเกิดอุบัติภัยดังกล่าว หากพิจารณาตรงนี้เป็นสาระสำคัญ จะเห็นว่ามีเรื่องของ ผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จนละเลยเรื่องความปลอดภัย”

“คนที่มีหน้าที่รื้อ ก็รื้อโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่คำนึงถึงกติกา และกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญขณะที่ รื้อถอนควรจะหยุดใช้อาคาร แต่ยังเปิดใช้ จึงเกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายกลับเป็นบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่มีส่วน เกี่ยวข้องใดๆ กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น จริงๆ ตึกในกรุงเทพ มหานครผิดกฎหมายเยอะ แต่กรณีตึกนิวเวิลด์เห็นชัดว่า ผิดกฎหมาย ถ้ากฎหมายยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ ผมเชื่อว่าอีกไม่นานนี้ ศูนย์การค้าในเขตพระนครจะต้องโดนในลักษณะนี้อีกเยอะ”

ตึกนิวเวิลด์ใช้วัสดุกึ่ง Pre-Fabrication ตัดและถอดได้ทุกชิ้น

อย่างไรก็ตาม โดยโครงสร้างของตึกนิวเวิลด์ถือเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้วัสดุกึ่ง Pre-Fabrication มีพื้น สำเร็จรูปเป็นรูปตัว T ซึ่งสามารถรื้อถอนได้โดยการตัดตัวอาคารออกเป็นชิ้นๆ เนื่องจากวัสดุก่อสร้างที่ใช้สามารถถอดได้ทุกชิ้นและตัดทีละชิ้น พร้อมติดตั้ง Tower Crane ตัวหนึ่งไว้ตรงกลาง เพื่อให้ง่ายต่อการลำเลียงเศษวัสดุจากชั้นบนลงย่อยที่ชั้นล่างได้ ซึ่งการรื้อถอนด้วยวิธีการดังกล่าวมีความปลอดภัย และไม่น่า จะมีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีน้ำหนักของเศษวัสดุ สะสมอยู่ชั้นบน ทำให้ไม่มีน้ำหนักเหลืออยู่ในตัวอาคาร ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี

ชี้ตึกนิวเวิลด์ถล่มเพราะคานแอ่น เหตุรับน้ำหนักมากเกินไป

คุณมั่น ศรีเรือนทอง รองประธาน คณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม วิศวกรรมสถานแห่ง ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า การ รื้อถอนตึกนิวเวิลด์ที่บางลำพู เจ้าของอาคารได้ว่าจ้างให้บริษัท สุณิสาก่อสร้าง แอนด์ ซัพพลายส์ จำกัด เป็นผู้รื้อถอน ซึ่ง บริเวณที่เกิดเหตุต้องยอมรับว่ามีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างแออัดพอสมควร มีผู้คนสัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก บริเวณรอบด้านของอาคารมีความกว้างประมาณ 6-8 เมตรเท่านั้น หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม ได้มีคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เลิกใช้อาคารดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ การถล่มของอาคารนิวเวิลด์ ซึ่งเป็นอาคารที่มี โครงสร้างเหล็ก อาจเกิดจากการแอ่นตัวของคาน ทำให้พื้น หลุดออกจากคานและพังลงมา เพราะพื้นและคานที่เป็น โครงสร้างของตึกต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่า Yield Point ที่ ออกแบบไว้ ส่งผลให้เกิดการเทน้ำหนักลงไปข้างล่างต่อเนื่องกันไป ซึ่งเกิดจากวิธีการดำเนินการรื้อถอนที่ผิดหลักวิชาการอย่างร้ายแรง เพราะทำการดัมพ์เศษวัสดุจากชั้นบนลงมายังชั้นล่าง โดยการเจาะพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมและใช้รถแบ็กโฮดัมพ์เศษวัสดุก่อสร้างที่รื้อถอนจากอาคารผ่านลงมาทางพื้นที่เจาะเป็นช่อง สี่เหลี่ยมเอาไว้ เป็นการขนถ่ายเศษวัสดุก่อสร้างจากชั้น 11 ลงมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงชั้น 5 ซึ่งกองเศษวัสดุก่อสร้างจากการรื้อถอนแต่ละชั้นนั้นมีจำนวนมาก ทำให้มีกองเศษวัสดุจำนวนมาก จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพบกับกองเศษวัสดุจากการรื้อถอนกองสูงประมาณสองเมตรจากพื้นอาคารของแต่ละชั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้อาคารถล่ม

แจงจะรื้อถอนอาคารแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับโครงสร้างการออกแบบอาคาร

ขณะเดียวกัน คุณชูชาติ วราหกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้าน การรื้อถอนอาคาร บริษัท แท็คทีม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวว่า ผลพวงจากการพัฒนาทางด้านการออกแบบ ส่งผลให้รูปแบบของอาคารในปัจจุบันมีความหลากหลายทางโครงสร้างมากขึ้น ทำให้วิธีการรื้อถอนอาคารหลากหลายตามไปด้วย โดยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของการออกแบบอาคารเป็นหลัก ซึ่งเดิมทีการ รื้อถอนอาคารส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนในการรื้อถอน เนื่องจากอาคารมีความสูงไม่มากนัก แต่ในยุคปัจจุบันด้วยรูปแบบ โครงสร้างของอาคารที่มีการออกแบบที่หลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทันสมัย ทำให้วิธีการรื้อถอนอาคารและลำดับขั้นตอนการรื้อถอนของ แต่ละอาคารมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น อย่างยิ่งที่วิศวกรจะต้องเข้าไปควบคุมการดำเนินงาน

ทั้งนี้ จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับขั้นตอน และแนวทางในการรื้อถอนอย่างถูกต้องมากเป็นพิเศษ ได้แก่ อาคารขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงมากกว่า 5 ชั้นขึ้นไป อาคารวิบัติ และอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นต้น โดยที่แต่ละอาคาร จะมีวิธีการทำลายที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากวิวัฒนาการ ของการออกแบบอาคาร ซึ่งทำให้การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

“การรื้อถอนอาคารนั้นตรงกันข้ามกับการสร้างบ้าน เนื่องจากการสร้างบ้านนั้นจะต้องสร้างจากดินขึ้นไปข้างบน แต่การรื้อถอนอาคารนั้นต้องรื้อถอนจากข้างบนลงมาข้างล่าง เว้นแต่จะมีการใช้เทคนิคพิเศษ เช่น การระเบิดอาคาร ซึ่งการระเบิดอาคารนั้นต้องทำการระเบิดจากข้างล่าง เพื่อลดความ แข็งแรงของด้านล่างของโครงสร้างอาคาร ก่อนที่จะระเบิด ส่วนบนขึ้นไปเรื่อยๆ ในเวลาใกล้เคียงกัน”

รื้อถอนอาคารสูง เพื่อถ่ายเทน้ำหนักกันอาคารถล่ม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมายังมีการทรุดตัวของอาคารที่ต้องทำการรื้อถอนอีกหลายแห่ง รวมถึงอาคารสาธารณสุขของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับบริเวณที่จะทำการรื้อถอนมีรถยนต์และยานพาหนะสัญจรผ่านไปมาตลอดเวลา ในการดำเนินการรื้อถอนจึงต้องสร้างสิ่งป้องกันเป็นโครงเหล็กหรือสังกะสี เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ การรื้อถอนอาคารดังกล่าวจะต้องทุบทำลายอาคารข้างบน เพื่อ นำคอนกรีตออก ทำให้มีเศษปูนลงมาข้างล่าง แล้วค่อยลำเลียงออกจากตัวอาคาร เพื่อไม่ให้มีการสะสมของปริมาณคอนกรีตที่ทุบทำลายในแต่ละชั้น จนเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวอาคาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่นเดียวกับการรื้อถอนอาคารสูงที่ต้อง ทำการทุบทำลายคอนกรีตข้างบนก่อนแล้วจึงลำเลียงคอนกรีต ลงมาข้างล่าง จากนั้นจึงจะขนถ่ายเศษวัสดุที่ทุบทำลายออกจากอาคาร ก่อนที่จะทุบทำลายพื้นชั้นบนของอาคาร ซึ่งถือเป็นวิธีการถ่ายเทน้ำหนัก เพื่อมิให้เกิดการถล่มของตัวอาคาร โดย ในระหว่างการรื้อถอนอาคารจะต้องมีแผงป้องกันเศษวัสดุ ตกหล่น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการรื้อถอนอาคาร

แนะใช้ลิฟต์ขนถ่ายเศษวัสดุ ออกจากตัวอาคารขนาดใหญ่ได้

สำหรับการขนถ่ายเศษวัสดุออกจากตัวอาคาร หากเป็นอาคารขนาดใหญ่สามารถขนถ่ายเศษวัสดุผ่านทางช่องลิฟต์ เนื่องจากลิฟต์เป็นโครงสร้างที่สามารถรับน้ำหนักของโครงสร้างได้ดี เพราะฐานลิฟต์มีขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเทเศษปูนหรือเศษวัสดุผ่านลงไปทางช่องลิฟต์ ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เศษวัสดุหรือเศษปูนกระเด็นออกมาข้างนอกได้ ซึ่งก่อนที่จะนำเศษวัสดุหรือเศษปูนลงไปในช่องลิฟต์ จะมีการฉีดน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

การขนถ่ายเศษวัสดุหรือเศษปูนมายังช่องลิฟต์ เพื่อลำเลียงสู่ชั้นล่างจะอาศัยรถบล็อกแคปเป็นเครื่องมือในการขนตักเศษวัสดุดังกล่าว ขณะเดียวกันช่องลิฟต์ที่ชั้นล่างก็จะต้องมี รถบล็อกแคปอีกคันหนึ่งทำหน้าที่ตักเศษวัสดุที่ถูกส่งมาที่ ชั้นล่างออกจากตัวอาคาร โดยรถบล็อกแคปทั้งสองคันจะต้องทำงานอย่างสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้ปริมาณคอนกรีตสะสมมาก จนเกินไป ดังนั้น การทำงานดังกล่าวจึงต้องมีการวางแผนและควบคุมการทำงานอย่างดีโดยวิศวกร เพื่อความถูกต้องตาม หลักวิชาการ และความปลอดภัยขณะทำการรื้อถอน ซึ่งการรื้อถอนอาคารด้วยวิธีดังกล่าวนี้ถูกนำไปใช้กับการรื้อถอนอาคารอื่นๆ ได้แก่ อาคารไทยไดมารู ย่านราชประสงค์ หรืออาคารอื้อจื่อเหลียง ถนนพระราม 4 เป็นต้น

เร่งคลอดกฎหมายตรวจสอบ ความปลอดภัยของอาคาร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีมาตรการเชิงรุกทางด้านกฎหมาย โดยกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงควบคุมอาคารมาตรา 32 (ทวิ) ซึ่งระบุถึงการตรวจสอบอาคาร เพื่อ ดูการใช้งานของอาคาร สภาพของอาคาร ความปลอดภัย ทางอาคาร โดยให้มีการต่อใบอนุญาตทุกปีจากบริษัทวิศวกร ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ และให้ความเห็นเพื่อสร้างความถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ประชาชน

ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจทานแล้ว และส่งกลับที่กรมโยธาธิการและ ผังเมือง เพื่อทำการแก้ไข ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งให้ กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ถูกต้อง มีผลปฏิบัติโดยด่วน เพื่อให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบอาคารหลายร้อยแห่ง ในกรุงเทพฯ ที่มีสถานะเหมือนนิวเวิลด์ บางลำพู เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นอกจากมาตรการบังคับทางกฎหมายแล้ว ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรจะมีนโยบายจูงใจให้เจ้าของอาคารมีจิตสำนึก ก่อสร้างอาคารตามแบบที่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารไว้ และใช้งานอาคารให้ถูกต้องตามแบบที่สร้าง ซึ่งอาจจะใช้วิธีตรวจสอบอาคาร เพื่อบอกระดับชั้นหรือคุณภาพความปลอดภัยของอาคาร มอบประกาศนียบัตรจากผู้ตรวจอาคาร ที่ได้รับการรับรองจากกรมโยธาธิการและผังเมืองให้อาคารที่มีความปลอดภัย พร้อมกันนี้ได้ร่วมมือกับกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ สร้างนโยบายทำดีจ่ายเบี้ยประกันถูก ซึ่งจะเป็นดัชนีในการจ่ายเบี้ยประกัน อาคารที่มีระดับคุณภาพความปลอดภัยสูงหรือต่ำจะมีผลต่ออัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยด้วย

อุบัติภัยที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า น่าจะมีส่วนกระตุ้น ให้วิศวกรและผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการรื้อถอนอาคารมากขึ้น โดยที่วิศวกรหรือ ผู้ควบคุมงานจะต้องนำประสบการณ์ที่มีอยู่พิจารณาหาวิธีการรื้อถอนหรือทุบทำลายอาคาร ซึ่งมีโครงสร้างและรูปแบบที่ แตกต่างกันออกไป บนพื้นฐานของความถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้คนรอบข้างให้มากที่สุด

สภาวิศวกรและ ว.ส.ท. พร้อมร่วมมือภาครัฐ ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์

รศ.ฉดับ ปัทมสูต นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรมีหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมการประกอบวิชาชีพวิศวกร พร้อมเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ สภาวิศวกรจะเร่งดูแลการทำงานของวิศวกรอย่างเข้มงวดมากขึ้น ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ควรจะ ดำเนินการทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น

“อยากจะฝากถึงรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย ควรจะกำหนดนโยบายให้พนักงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งดำเนินงานในเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่สภาวิศวกร และ ว.ส.ท. ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ”


กรณีศึกษาอาคารทรุดตัวบริเวณ คลองแสนแสบ

เนื่องจากแต่ละอาคารมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทำให้วิธีการรื้อถอนอาคารแตกต่างกัน จึงต้องอาศัยความรู้ ทางวิศวกรรมในการควบคุมการดำเนินงาน ซึ่งจากกรณีศึกษาที่ผ่านมา ได้แก่ อาคารทรุดตัวที่คลองแสนแสบ บางกะปิ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีพื้นที่รอบข้างจำกัดมากไม่สามารถใช้เครื่องมือเข้าไปช่วยในการรื้อถอนได้ จึงต้องอาศัยแรงงานในการรื้อถอนและทุบทำลายอย่างเดียวเท่านั้น อีกทั้ง ตัวอาคารเอียงมากโอกาสที่อาคารจะ Slide ล้มลงมาสูง ดังนั้น วิธีการทางวิศวกรรมที่จะทำลายอาคารแห่งนี้ จึงต้องพยายามให้จุดศูนย์ถ่วงเข้าไปข้างในให้มากที่สุด เพื่อให้โอกาสการล้มคว่ำลงไปข้างหน้าของตัวอาคารมีน้อยลง รวมทั้งลำเลียงเศษปูนหรือเศษวัสดุที่ทุบทำลายออกจากตัวอาคารที่มีลักษณะการทรุดตัวดังกล่าวให้เร็ว ที่สุด เพื่อจะได้ลดน้ำหนักของตัวอาคาร

ที่มา : การบรรยายพิเศษเรื่อง “ข้อปฏิบัติและแนวทางในการ รื้อถอนอาคารขนาดใหญ่” จัดโดยคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.)

 

ชื่อผู้เขียน : ภิญญาภรณ์ ชาติการุณ

Read more

มาตรฐานความปลอดภัย ในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง

กฎกระทรวง

กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย

และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง

พ.ศ. ๒๕๕๑

———————–

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๑๐๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

“งานก่อสร้าง” หมายความว่า การประกอบการเกี่ยวกับการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทุกชนิด เช่น อาคาร สนามบิน ทางรถไฟ ทางรถราง ถนน อุโมงค์ ท่าเรือ อู่เรือ คานเรือ สะพานเทียบเรือ สะพาน ทางน้ำ ท่อระบายน้ำ ประปา รั้ว กำแพง ประตู ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย พื้นที่หรือสิ่งก่อสร้างเพื่อจอดรถ กลับรถ และทางเข้าออกของรถ และหมายความรวมถึงการต่อเติม ซ่อมแซม ซ่อมบำรุง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือการรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างนั้นด้วย

“อาคาร” หมายความว่า อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

“เขตก่อสร้าง” หมายความว่า พื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้าง รวมทั้งพื้นที่โดยรอบบริเวณซึ่งนายจ้างได้กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงนี้

“เขตอันตราย” หมายความว่า บริเวณที่เป็นสถานที่ที่กำลังก่อสร้าง ที่ติดตั้งนั่งร้าน ใช้ปั้นจั่น หรือใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อการก่อสร้าง พื้นที่ที่เป็นทางลำเลียงวัสดุเพื่อการก่อสร้าง หรือพื้นที่ที่ใช้เป็นสถานที่เก็บเชื้อเพลิง วัตถุระเบิด หรือวัสดุก่อสร้าง

“อุปกรณ์ไฟฟ้า” หมายความว่า เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้าเป็นต้นกำลัง หรือเป็นส่วนประกอบ หรือใช้เกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้า

“เสาเข็ม” หมายความว่า สิ่งซึ่งทำให้จมลงไปในพื้นดินเพื่อรับน้ำหนักของโครงสร้างต่าง ๆ โดยถ่ายน้ำหนักจากโครงสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอื่นสู่ดินชั้นล่าง หรือเพื่อใช้เป็นกำแพงกันดิน

“เสาเข็มเจาะ” หมายความว่า เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กหรือไม่เสริมเหล็กที่ก่อสร้างโดยวิธีการขุดหรือเจาะเอาดินออก แล้วเทคอนกรีตลงในหลุมที่ขุดหรือเจาะนั้น

“การตอกเสาเข็ม” หมายความว่า วิธีการทำให้เสาเข็มจมลงไปในพื้นดินตามความต้องการโดยใช้น้ำหนักตอกหรือกด

“เครื่องตอกเสาเข็ม” หมายความว่า เครื่องจักรที่ใช้ในการตอกเสาเข็ม ประกอบด้วย โครงสร้างและเครื่องต้นกำลัง ซึ่งอาจแยกออกจากกันหรือรวมเป็นชุดเดียวกันก็ได้

“แคร่ลอย” หมายความว่า เรือ แพ โป๊ะ หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ที่ใช้ในงานก่อสร้าง

“กำแพงพืด” หมายความว่า กำแพงหรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเป็นกำแพงกันดินหรือผนังของโครงสร้างส่วนที่อยู่ใต้ดิน ก่อสร้างโดยวิธีการขุดหรือเจาะเอาดินออก แล้วเทคอนกรีตลงในร่องที่ขุดหรือเจาะนั้น

“ค้ำยัน” หมายความว่า โครงชั่วคราวที่รองรับ ยึดโยง หรือเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างนั่งร้าน หรือแบบหล่อคอนกรีต ในระหว่างการก่อสร้าง

“เครื่องจักร” หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับก่อกำเนิดพลังงานเปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ล้อตุนกำลัง รอก สายพาน เพลา เฟือง หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสัมพันธ์กัน รวมทั้งเครื่องมือกล

“ปั้นจั่น” หมายความว่า เครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ และหมายความรวมถึงเครื่องจักรประเภทรอกที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงในแนวดิ่งด้วย

“ลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว” หมายความว่า เครื่องสำหรับใช้ขนส่งวัสดุขึ้นลงเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วยหอลิฟต์หรือปล่องลิฟต์ ตัวลิฟต์ และเครื่องจักร

“ลิฟต์โดยสารชั่วคราว” หมายความว่า เครื่องสำหรับใช้ขนส่งบุคคลขึ้นลงเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วยหอลิฟต์หรือปล่องลิฟต์ ตัวลิฟต์ และเครื่องจักร

“ลวดสลิง” หมายความว่า เชือกที่ทำด้วยเส้นลวดหลายเส้นที่ตีเกลียวหรือพันกันรอบแกนชั้นเดียวหรือหลายชั้น

“นั่งร้าน” หมายความว่า ที่ทำงานซึ่งจัดไว้สูงจากพื้นดินหรือจากพื้นของอาคารหรือส่วนของงานก่อสร้าง สำหรับเป็นที่รองรับผู้ทำงานหรือวัสดุในงานก่อสร้างเป็นการชั่วคราว

“งานก่อสร้างในน้ำ” หมายความว่า การก่อสร้างทุกประเภทในน้ำหรือบนสิ่งก่อสร้างซึ่งอยู่ในน้ำ และรวมถึงการก่อสร้างที่ใช้แคร่ลอย

“ค่าความปลอดภัย” หมายความว่า อัตราส่วนของหน่วยแรงหรือน้ำหนักบรรทุกที่คาดว่าจะทำให้เกิดการวิบัติต่อหน่วยแรงหรือน้ำหนักบรรทุกที่ใช้งานจริง

“วิศวกร” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

“ผู้ควบคุมงาน” หมายความว่า ผู้ซึ่งรับผิดชอบในการอำนวยการหรือควบคุมดูแลงานก่อสร้างตามลักษณะและประเภทของงาน

“ผู้บังคับเครื่องตอกเสาเข็ม” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีหน้าที่บังคับการทำงานของเครื่องตอกเสาเข็มให้ทำงานตามความต้องการ

“ผู้บังคับปั้นจั่น” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีหน้าที่บังคับการทำงานของปั้นจั่นให้ทำงานตามความต้องการ

หมวด ๑

บททั่วไป

ข้อ ๓ ให้นายจ้างจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานสำหรับงานก่อสร้าง ดังต่อไปนี้

(๑) งานอาคารซึ่งมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๑๕ เมตร ขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๑,๐๐๐ ตารางเมตร

(๒) งานสะพานที่มีช่วงความยาวตั้งแต่ ๓๐ เมตร ขึ้นไป หรืองานสะพานข้ามทางแยกหรือทางยกระดับ สะพานกลับรถ หรือทางแยกต่างระดับ

(๓) งานขุด ซ่อมแซม หรือรื้อถอนระบบสาธารณูปโภคที่ลึกตั้งแต่ ๓ เมตร ขึ้นไป

(๔) งานอุโมงค์หรือทางลอด

(๕) งานก่อสร้างอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด

แผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๔ ให้นายจ้างจัดทำพื้นที่ทำงานก่อสร้างให้มีความมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้อย่างปลอดภัย

ข้อ ๕ ให้นายจ้างจัดให้มีผู้ควบคุมงานทำหน้าที่ตรวจความปลอดภัยในการทำงานก่อนการทำงานและขณะทำงานทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๖ ให้นายจ้างจัดให้มีการรักษาความสะอาดในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง โดยจัดเก็บวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างให้เรียบร้อย และแยกของเหลือใช้หรือขยะทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยพิจารณาแยกหรือกำจัดทิ้งเพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของลูกจ้าง รวมทั้งจัดให้มีการขนย้ายดินที่ขุดออกจากที่ทำงานก่อสร้าง และหากขนย้ายไม่ทันให้จัดหาสิ่งรองรับดินดังกล่าวเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๗ ในกรณีที่มีการใช้วัตถุระเบิดในงานก่อสร้าง ให้นายจ้างจัดให้มีระบบการเก็บรักษาและดูแลการใช้วัตถุระเบิดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายและกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พร้อมทั้งควบคุมดูแลมิให้ลูกจ้าง หรือบุคคลใดนำไปใช้เพื่อการอื่น

ข้อ ๘ ในกรณีที่ลูกจ้างต้องทำงานก่อสร้างบนพื้นต่างระดับที่มีความสูงตั้งแต่ ๑.๕๐ เมตรขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีบันไดหรือทางลาดพร้อมทั้งติดตั้งราวกั้นหรือรั้วกันตกที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๙ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานก่อสร้างในขณะเกิดภัยธรรมชาติ เว้นแต่เป็นการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในงานก่อสร้างหรือเพื่อการช่วยเหลือหรือการบรรเทาเหตุ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของลูกจ้างนั้นด้วย

ข้อ ๑๐ ให้นายจ้างจัดให้มีแสงสว่างฉุกเฉินในเขตก่อสร้างให้เพียงพอเพื่อใช้ในเวลาที่ไฟฟ้าดับ

ข้อ ๑๑ ให้นายจ้างติดป้ายเตือนอันตราย ณ ทางเข้าออกของยานพาหนะทุกแห่ง และจัดให้มีผู้ให้สัญญาณในขณะที่มียานพาหนะเข้าออกเขตก่อสร้าง

ข้อ ๑๒ ให้นายจ้างติดป้ายแสดงหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานดับเพลิง หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย ที่ใกล้ที่สุดไว้ ณ เขตก่อสร้างให้เห็นได้ชัดเจน

ข้อ ๑๓ ให้นายจ้างติดหรือตั้งป้ายเตือนและป้ายบังคับในเขตก่อสร้างเพื่อความปลอดภัย เช่น ให้ระวัง ห้ามเข้า ให้สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล โดยใช้เครื่องหมายหรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเจน

ข้อ ๑๔ ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานเป็นระยะ ๆ เช่น การใช้เครื่องจักร รหัสสัญญาณต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๑๕ ในกรณีที่นายจ้างจัดรับส่งลูกจ้างยังสถานที่ก่อสร้าง ให้นายจ้างจัดให้มีการใช้ยานพาหนะที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย

หมวด ๒

เขตก่อสร้าง

ข้อ ๑๖ ให้นายจ้างกำหนดบริเวณเขตก่อสร้าง โดยทำรั้วสูงไม่น้อยกว่า ๒ เมตร ที่มั่นคงแข็งแรงไว้ตลอดแนวเขตก่อสร้าง หรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสมตามลักษณะงาน และจัดทำป้าย “เขตก่อสร้าง” แสดงให้เห็นได้ชัดเจน

ข้อ ๑๗ ให้นายจ้างกำหนดเขตอันตรายในเขตก่อสร้าง โดยจัดทำรั้วหรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสม และมีป้าย “เขตอันตราย” แสดงให้เห็นได้ชัดเจน และในเวลากลางคืนให้มีสัญญาณไฟสีส้มตลอดเวลา

ข้อ ๑๘ ห้ามนายจ้างอนุญาตหรือปล่อยปละละเลยให้ลูกจ้างเข้าพักอาศัยในอาคารซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือในเขตก่อสร้างนั้น เว้นแต่นายจ้างจะได้จัดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัย และได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากวิศวกร และให้เก็บหนังสือแสดงความเห็นชอบนั้นไว้ ณ ที่ก่อสร้าง เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ ทั้งนี้ นายจ้างต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรการนั้นตลอดเวลา

ในกรณีที่ได้รับความเห็นชอบให้มีการเข้าพักอาศัยในอาคารซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือในเขตก่อสร้างตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ติดป้ายแสดงเขตที่พักอาศัยให้เห็นได้ชัดเจน ณ เขตที่พักอาศัย

(๒) จัดทำรั้วที่พักอาศัยให้มั่นคงแข็งแรง

(๓) กำหนดทางเข้าออกและทำ ทางเดินเข้าออกที่พักอาศัยโดยมิให้ผ่านเขตอันตราย หากจำเป็นต้องผ่านเขตอันตรายต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อความปลอดภัยของลูกจ้าง รวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันอันตรายจากสิ่งของตกจากที่สูงด้วย

ข้อ ๑๙ ในกรณีที่มีทางร่วมหรือทางแยกในเขตก่อสร้าง ให้นายจ้างติดตั้งป้ายเครื่องหมายเตือนหรือเครื่องหมายบังคับเพื่อแสดงว่าข้างหน้าเป็นทางร่วมหรือทางแยกบริเวณทางขนส่งที่เลี้ยวโค้งหรือหักมุม ให้นายจ้างติดตั้งกระจกนูนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร หรืออุปกรณ์อื่น เพื่อให้ลูกจ้างและผู้ขับขี่ยานพาหนะที่กำลังสวนทางมามองเห็นได้สะดวก

หมวด ๓

งานไฟฟ้าและการป้องกันอัคคีภัย

ส่วนที่ ๑

งานไฟฟ้า

ข้อ ๒๐ การติดตั้งและการใช้ระบบไฟฟ้าในเขตก่อสร้าง ให้นายจ้างจัดให้มีแผนผังวงจรไฟฟ้าซึ่งมีวิศวกรลงนามรับรอง และให้นายจ้างเก็บแผนผังดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลา รวมทั้งจัดให้มีวิศวกรควบคุมดูแลการติดตั้งและการใช้งานให้เกิดความปลอดภัย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้าในท้องถิ่นนั้น กรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าวให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ ๒๑ ให้นายจ้างจัดให้มีสวิตช์ตัดวงจรไฟฟ้าเพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าในเขตก่อสร้างให้เกิดความปลอดภัย ทั้งนี้ การติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้าในท้องถิ่นนั้น กรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าวให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ ๒๒ ให้นายจ้างจัดให้มีระบบป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วโดยต่อสายดินสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้า แผงไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่กับที่ทุกชนิด ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังอื่นให้ต่อสายดินกับเต้ารับที่มีจุดต่อลงดิน ทั้งนี้ การติดตั้งระบบป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้าในท้องถิ่นนั้น กรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าวให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ ๒๓ ในระหว่างที่มีการทำงานติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า ให้นายจ้างจัดให้มีการใช้กุญแจป้องกันการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจร หรือจัดให้มีระบบระมัดระวังป้องกันมิให้ผู้ใดสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรตลอดเวลาที่ทำงานดังกล่าว และติดป้ายแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรไว้ด้วย

ข้อ ๒๔ ให้นายจ้างจัดให้มีป้ายที่มีตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ซึ่งสะท้อนแสงได้เพื่อเตือนให้ระวังอันตรายจากไฟฟ้าที่บริเวณหม้อแปลงไฟฟ้าและแผงไฟฟ้า

ส่วนที่ ๒

การป้องกันอัคคีภัย

ข้อ ๒๕ ห้ามนายจ้างเก็บวัตถุไวไฟหรือวัตถุระเบิดไว้ในอาคารซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและที่พักอาศัยของลูกจ้างในเขตก่อสร้าง เว้นแต่เก็บไว้ในที่ซึ่งปลอดภัยเท่าที่จำเป็นแก่การใช้งานประจำวันเท่านั้น

ข้อ ๒๖ ให้นายจ้างดูแลมิให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่มีการกักเก็บวัตถุไวไฟ หรือวัตถุระเบิด และจัดทำป้าย “อันตราย” “ห้ามสูบบุหรี่” “ห้ามทำให้เกิดประกายไฟ” หรือ “ห้ามพกพาอุปกรณ์สำหรับจุดไฟหรือติดไฟ” หรือป้ายซึ่งมีข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน ตามสภาพหรือคุณสมบัติของวัตถุไวไฟหรือวัตถุระเบิดไว้ให้เห็นได้ชัดเจน ณ บริเวณนั้น

ข้อ ๒๗ ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิง และต้องมีขนาดบรรจุไม่น้อยกว่าเครื่องละ ๔ กิโลกรัม โดยให้มีอย่างน้อย ๑ เครื่องในทุกจุดที่มีงานเชื่อมโลหะ งานสีที่มีส่วนผสมของสารตัวทำละลายที่ไวไฟหรือติดไฟ งานที่อาจจะก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ หรือบริเวณที่มีการกักเก็บวัตถุไวไฟหรือวัตถุระเบิด

ในการติดตั้งเครื่องดับเพลิงทุกจุดจะต้องให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารหรือสถานที่ก่อสร้างไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร และอยู่ในที่ซึ่งสามารถมองเห็นและใช้สอยได้โดยสะดวกและจัดให้มีการตรวจสอบเครื่องดับเพลิงให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างน้อยหกเดือนต่อครั้ง

ข้อ ๒๘ ให้นายจ้างจัดให้มีทางหนีไฟและบันไดหนีไฟ รวมทั้งป้ายแสดงทางหนีไฟทุกชั้นของอาคารซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และต้องดูแลไม่ให้มีกองวัสดุ เครื่องจักร หรือสิ่งอื่นใดกีดขวางทางหนีไฟและบันไดหนีไฟ ทั้งนี้ ทางหนีไฟต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า ๑.๑๐ เมตร และบันไดหนีไฟถ้าเป็นบันไดชั่วคราวจะต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยแก่ผู้ใช้

ข้อ ๒๙ การก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๑๕ เมตร ขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร ให้นายจ้างจัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่สามารถได้ยินโดยทั่วถึงกันทั้งอาคาร

หมวด ๔

งานเจาะและงานขุด

ข้อ ๓๐ การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู และงานอื่นในลักษณะเดียวกัน ให้นายจ้างจัดให้มีราวกั้นหรือรั้วกันตก แสงสว่าง และป้ายเตือนอันตราย ตามลักษณะของงานก่อสร้างเพื่อให้เกิดความปลอดภัยไว้ตลอดเวลาทำงาน และในเวลากลางคืนต้องจัดให้มีสัญญาณไฟสีส้มหรือป้ายสีสะท้อนแสงเตือนอันตรายให้เห็นได้ชัดเจน

ข้อ ๓๑ การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู และงานอื่นในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดอันตรายจากการพลัดตก ให้นายจ้างจัดให้มีแผ่นโลหะหรือวัสดุอื่นที่มีความแข็งแรงเพียงพอปิดคลุมบนบริเวณดังกล่าว และทำราวล้อมกั้นด้วยไม้หรือโลหะ

ข้อ ๓๒ การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู และงานอื่นในลักษณะเดียวกันที่ลึกตั้งแต่ ๒ เมตรขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีการคำนวณ ออกแบบ และกำหนดขั้นตอนการดำเนินการโดยวิศวกรก่อนลงมือปฏิบัติงาน และนายจ้างต้องปฏิบัติตามแบบและขั้นตอนดังกล่าว รวมทั้งต้องติดตั้งสิ่งป้องกันดินพังทลายไว้ด้วย

ข้อ ๓๓ การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู และงานอื่นในลักษณะเดียวกันในบริเวณที่มีสาธารณูปโภค ให้นายจ้างจัดให้มีการเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภคเหล่านั้นตามความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย หากไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายหรือไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันอันตรายเป็นกรณีพิเศษเพื่อมิให้เกิดอันตรายแก่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่น

ข้อ ๓๔ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู หรือพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีความลึกตั้งแต่ ๒ เมตร ขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มี

(๑) ทางขึ้นลงที่สะดวกและปลอดภัย

(๒) เครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ

(๓) ระบบการถ่ายเทอากาศและแสงสว่างที่เพียงพอและเหมาะสม

(๔) ผู้ควบคุมงานที่มีประสบการณ์ด้านงานดิน และผ่านการอบรมการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ประจำบริเวณปากรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู หรือพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเดียวกันเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาทำงาน

(๕) อุปกรณ์เพื่อการสื่อสารหรือรับส่งสัญญาณซึ่งเป็นที่เข้าใจระหว่างลูกจ้างที่ต้องลงไปทำงานในรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู หรือพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเดียวกัน กับผู้ช่วยเหลือตาม (๔) กรณีฉุกเฉิน

(๖) สายหรือเชือกช่วยชีวิต และเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ที่สามารถเกาะเกี่ยวได้เพื่อช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน

ข้อ ๓๕ ในบริเวณที่มีการเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรืองานอื่นในลักษณะเดียวกัน ให้นายจ้างจัดให้มีปลอกเหล็ก แผ่นเหล็ก ค้ำยัน หรืออุปกรณ์อื่นเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากดินพังทลาย และต้องจัดให้มีวิศวกรตรวจสอบความมั่นคงเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๓๖ ในกรณีที่ใช้ปั้นจั่นหรือเครื่องจักรหนักปฏิบัติงาน หรือมีกองวัสดุหรืออุปกรณ์หนักอยู่บริเวณใกล้ปากรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู หรือพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องจัดให้มีการป้องกันดินพังทลายโดยติดตั้งเสาเข็มพืด (sheet pile) หรือโดยวิธีอื่น

ข้อ ๓๗ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรูเจาะหรือรูขุดที่ทิ้งไว้เกินสิบสองชั่วโมงนับจากเริ่มการเจาะหรือขุด หรือเกินสามชั่วโมงหลังจากที่เจาะหรือขุดเสร็จ เว้นแต่จะมีระบบหรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เกิดจากดินพังทลาย

ข้อ ๓๘ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คู หรือพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ที่มีขนาดกว้างน้อยกว่า ๗๕ เซนติเมตร และมีความลึกตั้งแต่ ๒ เมตร ขึ้นไป

หมวด ๕

งานก่อสร้างที่มีเสาเข็มและกำแพงพืด

ส่วนที่ ๑

เสาเข็ม

ข้อ ๓๙ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่บังคับเครื่องตอกเสาเข็มได้รับการฝึกอบรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๔๐ ในการประกอบ การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การซ่อมบำรุง และการตรวจสอบเครื่องตอกเสาเข็ม ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะของเครื่องตอกเสาเข็มและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตเครื่องตอกเสาเข็มกำหนดไว้ หากไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะหรือคู่มือการใช้งานดังกล่าว ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะหรือคู่มือการใช้งานที่วิศวกรได้กำหนดขึ้นเป็นหนังสือ

ข้อ ๔๑ เครื่องตอกเสาเข็มที่นายจ้างจะนำมาใช้ต้องมีรายละเอียดคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) โครงเครื่องตอกเสาเข็มต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า ๒

(๒) โครงเครื่องตอกเสาเข็มต้องสร้างด้วยโลหะที่มีจุดคราก (yield point) ไม่น้อยกว่า ๒,๔๐๐ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

(๓) โครงเครื่องตอกเสาเข็มต้องมีการยึดโยง ค้ำยัน หรือตรึงให้มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

(๔) คานติดตั้งรอกและฐานรองรับคานต้องสามารถรับน้ำหนักรอก ลูกตุ้ม และน้ำหนักเสาเข็มรวมกันโดยมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า ๕

(๕) รางเลื่อนเครื่องตอกเสาเข็มต้องสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักเครื่องตอกเสาเข็ม

ในกรณีที่ใช้เครื่องตอกเสาเข็มระบบดีเซลแฮมเมอร์ อุปกรณ์ที่ใช้ยึดกับโครงเครื่องตอกเสาเข็มต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า ๖

ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้จัดทำโครงสร้างเครื่องตอกเสาเข็มเอง จะต้องมีวิศวกรเป็นผู้ออกแบบคำนวณโครงสร้าง และกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๔๒ เมื่อติดตั้งเครื่องตอกเสาเข็มแล้วเสร็จ นายจ้างต้องจัดให้มีวิศวกรตรวจบันทึกวันเวลาที่ตรวจและผลการตรวจรับรองว่าถูกต้องเป็นไปตามข้อ ๔๑ แล้วจึงใช้เครื่องตอกเสาเข็มนั้นได้ และให้จัดเก็บเอกสารผลการตรวจดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ข้อ ๔๓ ให้นายจ้างจัดให้มีคู่มือการใช้เครื่องตอกเสาเข็มและคู่มือการใช้สัญญาณสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานในการตอกเสาเข็ม ให้ลูกจ้างได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

ข้อ ๔๔ ให้นายจ้างจัดให้มีป้ายพิกัดน้ำหนักยกและป้ายแนะนำการใช้เครื่องตอกเสาเข็มไว้ที่จุดหรือตำแหน่งที่ผู้บังคับเครื่องตอกเสาเข็มเห็นได้ชัดเจน

ข้อ ๔๕ ก่อนเริ่มทำการตอกเสาเข็มในแต่ละวัน ให้นายจ้างจัดให้มีผู้ควบคุมงานดำเนินการตรวจสอบอุปกรณ์ รางเลื่อน แม่แรง และส่วนประกอบทั้งหมดของเครื่องตอกเสาเข็มให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งตรวจสอบให้เครื่องตอกเสาเข็มติดตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งบันทึกวันเวลาที่ตรวจสอบและผลการตรวจสอบ เพื่อให้นายจ้างเก็บเอกสารผลการตรวจสอบดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ข้อ ๔๖ ในการทำงานบังคับเครื่องตอกเสาเข็ม ให้นายจ้างจัดให้มีโครงเหล็กและหลังคาลวดตาข่ายกันของตกอยู่เหนือศีรษะของผู้บังคับเครื่องตอกเสาเข็ม โดยต้องมีขนาดช่องลวดตาข่ายแต่ละด้านไม่เกิน ๒๐ มิลลิเมตร และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นลวดไม่น้อยกว่า ๑.๒๕ มิลลิเมตร ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เว้นแต่อุปกรณ์เครื่องตอกเสาเข็มนั้นจะมีหลังคาซึ่งมีความแข็งแรงปลอดภัย

ข้อ ๔๗ การเคลื่อนย้ายเสาเข็ม ให้นายจ้างควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้างหากมีการใช้ราง ให้วางรางเคลื่อนเสาเข็มให้ได้ระดับและมีหมอนรองรับที่มั่นคงแข็งแรง ในกรณีที่เคลื่อนย้ายเสาเข็มโดยวิธีอื่น ให้นายจ้างจัดให้วิศวกรหรือผู้ควบคุมงานกำหนดวิธีการเคลื่อนย้ายและควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๔๘ ในการยกเสาเข็มขึ้นตั้งในรางนำส่งเสาเข็ม ให้นายจ้างจัดให้มีการควบคุมให้ลูกจ้างใช้รอกหรือลวดสลิงยึดเสาเข็มในตำแหน่งที่วิศวกรได้ออกแบบกำหนดไว้

ข้อ ๔๙ ให้นายจ้างจัดให้มีการควบคุมดูแลลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนหมวกครอบหัวเสาเข็มปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) เปลี่ยนหมวกครอบหัวเสาเข็ม เมื่อลูกตุ้มหยุดทำงานและอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย

(๒) เมื่อการเปลี่ยนหมวกครอบหัวเสาเข็มได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และลูกจ้างผู้ทำหน้าที่เปลี่ยนหมวกครอบหัวเสาเข็มพ้นออกจากบริเวณรางนำส่งแล้ว ผู้ควบคุมงานจึงจะให้สัญญาณแก่ผู้บังคับเครื่องตอกเสาเข็มเพื่อทำงานต่อไป

ข้อ ๕๐ ในบริเวณที่ตอกเสาเข็ม ให้นายจ้างดูแลไม่ให้มีสิ่งกีดขวางสายตาผู้บังคับเครื่องตอกเสาเข็มที่จะมองเห็นการทำงานตอกเสาเข็ม

ข้อ ๕๑ ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้ควันไอเสียของเครื่องตอกเสาเข็มฟุ้งกระจายเป็นอันตรายต่อลูกจ้าง หรือจัดให้มีระบบระบายอากาศเสียออกจากบริเวณนั้น

ข้อ ๕๒ ในกรณีที่มีการติดตั้งหรือเคลื่อนย้ายเครื่องตอกเสาเข็มใกล้สายไฟฟ้า นายจ้างต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้าในท้องถิ่นนั้น กรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าวให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ ๕๓ ในกรณีที่มีการติดตั้งหรือการใช้เครื่องตอกเสาเข็ม หรือการยกเคลื่อนย้ายวัสดุที่อยู่ใกล้เสาส่งคลื่นโทรคมนาคม ก่อนให้ลูกจ้างทำงาน นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจการเกิดประจุไฟฟ้าเหนี่ยวนำ และถ้าปรากฏว่ามีประจุไฟฟ้าเหนี่ยวนำ ให้นายจ้างต่อสายตัวนำกับเครื่องตอกเสาเข็มหรือวัสดุนั้นเพื่อให้ประจุไฟฟ้าไหลลงดิน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ ๕๔ ในการใช้เสาเข็มที่มีรูกลวงตรงกลางด้านในขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๕ เซนติเมตร ขึ้นไป เมื่อทำการตอกเสาเข็มเสร็จแต่ละหลุม ให้นายจ้างจัดให้มีการปิดปากรูเสาเข็มโดยทันทีด้วยวัสดุที่มีความแข็งแรงสามารถป้องกันมิให้สิ่งของหรือผู้ใดตกลงไปในรูได้

ข้อ ๕๕ ในกรณีที่เครื่องตอกเสาเข็มขัดข้อง ชำรุด หรืออยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างใช้เครื่องตอกเสาเข็มดังกล่าวจนกว่าจะได้ซ่อมแซมแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัยเสียก่อน

ในการซ่อมแซมเครื่องตอกเสาเข็มระบบไอน้ำ ระบบลม หรือระบบไฮดรอลิค นายจ้างต้องจัดให้มีการลดแรงดันของเครื่องตอกเสาเข็มให้อยู่ในระดับปลอดภัยก่อน ส่วนการซ่อมแซมเครื่องตอกเสาเข็มระบบเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในหรือระบบดีเซลแฮมเมอร์ให้ดับเครื่องยนต์เสียก่อน

ข้อ ๕๖ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องตอกเสาเข็มระบบไอน้ำ ระบบลม ระบบไฮดรอลิค ระบบเครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน ระบบดีเซลแฮมเมอร์ หรือระบบอื่น ให้นายจ้างปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๕๗ งานเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ ๗๐ เซนติเมตร ขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีวิศวกรซึ่งมีประสบการณ์ด้านปฐพีวิศวกรรมประจำสถานที่ก่อสร้างตลอดเวลาทำงานของลูกจ้าง และลูกจ้างซึ่งทำงานต้องมีความชำนาญงานเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่

ข้อ ๕๘ ในกรณีที่มีการทำเสาเข็มเจาะตั้งแต่สองต้น โดยมีระยะห่างน้อยกว่าหกเท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของเสาเข็ม ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรูเจาะเสาเข็มใด ในขณะที่รูเจาะเสาเข็มข้างเคียงยังไม่ได้เทคอนกรีตหรือเทคอนกรีตแล้วแต่ยังไม่ก่อตัว

ข้อ ๕๙ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเสาเข็มเจาะในบริเวณที่จำกัด เช่น ใต้เพดานต่ำในซอกแคบหรือมุมอับ นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันอันตรายเป็นกรณีพิเศษเฉพาะแห่งเพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายขณะทำงาน

ข้อ ๖๐ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานตอกเสาเข็มและงานเสาเข็มเจาะในขณะมีพายุ ฝนตก ฟ้าคะนอง หรือภัยธรรมชาติอื่น เว้นแต่ในกรณีจำเป็น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากวิศวกรแล้ว นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันอันตรายเป็นพิเศษ

ข้อ ๖๑ ให้นายจ้างจัดให้มีวิศวกรควบคุมดูแลการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มโดยจัดให้มีการตรวจสอบวิธีการ ขั้นตอน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบตามที่วิศวกรกำหนด เช่น แม่แรง มาตรวัด การยึดกับเสาเข็มสมอ แท่นรับน้ำหนักบรรทุก คานที่ใช้ทดสอบ โดยแสดงรายการคำนวณความแข็งแรงของอุปกรณ์ทดสอบทั้งหมดให้สามารถรับน้ำหนักทดสอบได้อย่างปลอดภัย

ข้อ ๖๒ ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องหมายแสดงบริเวณที่มีการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มให้เห็นชัดเจน และป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณนั้น

ข้อ ๖๓ ให้นายจ้างหยุดการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มทันทีหากมีเหตุที่อาจเกิดอันตราย

ส่วนที่ ๒

กำแพงพืด

ข้อ ๖๔ การก่อสร้างกำแพงพืดนายจ้างต้องจัดให้มีวิศวกรซึ่งมีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ควบคุมการทำงานให้เกิดความปลอดภัยต่อลูกจ้างตลอดเวลา

ให้นำความในข้อ ๕๗ ข้อ ๕๘ และข้อ ๕๙ มาใช้บังคับกับงานก่อสร้างกำแพงพืดโดยอนุโลม

ข้อ ๖๕ ในระหว่างการก่อสร้างชั้นใต้ดินและมีการขุดดินออกจากบริเวณกำแพงพืด นายจ้างต้องติดตั้งอุปกรณ์วัดค่าการเคลื่อนตัว เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนตัวของกำแพงพืดและเตือนอันตรายที่อาจจะเกิดแก่ลูกจ้าง

ในกรณีที่ปรากฏการเคลื่อนตัวของกำแพงพืด มีสัญญาณเตือนอันตราย หรือมีพฤติการณ์ที่อาจจะเกิดอันตรายแก่ลูกจ้าง นายจ้างต้องสั่งให้หยุดการทำงานและจัดให้มีการเคลื่อนย้ายลูกจ้างออกจากบริเวณ นั้นทันที

หมวด ๖

ค้ำยัน

ข้อ ๖๖ การใช้ค้ำยัน ให้นายจ้างจัดให้มีการคำนวณออกแบบและควบคุมการใช้ โดยมีวิศวกรรับรอง ดังต่อไปนี้

(๑) ค้ำยันที่ทำด้วยเหล็ก ต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกใช้งานได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักบรรทุกใช้งาน ในกรณีค้ำยันทำด้วยวัสดุอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก ต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกใช้งานได้ไม่น้อยกว่าสี่เท่าของน้ำหนักบรรทุกใช้งาน และต้องมีเอกสารแสดงกำลังวัสดุประกอบด้วย

(๒) ไม้ที่ใช้ทำค้ำยัน ต้องเป็นไม้ที่ไม่ผุเปื่อยหรือชำรุดจนทำให้ไม้ขาดความแข็งแรงทนทานและต้องมีหน่วยแรงดัดประลัย (ultimate bending stress) ไม่น้อยกว่า ๓๐๐ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า ๔

(๓) เหล็กที่ใช้ทำค้ำยัน ต้องเป็นเหล็กที่มีจุดคราก (yield point) ไม่น้อยกว่า ๒,๔๐๐ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า ๒

(๔) ข้อต่อและจุดยึดต่าง ๆ ของค้ำยันต้องมั่นคงแข็งแรง

(๕) ในกรณีที่มีที่รองรับค้ำยัน ต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักบรรทุกใช้งาน

(๖) ค้ำยันต้องยึดโยงหรือตรึงกับพื้นดินหรือส่วนของสิ่งก่อสร้างให้มั่นคงแข็งแรง

ข้อ ๖๗ ในกรณีที่มีการเทคอนกรีตเหนือค้ำยัน ให้นายจ้างควบคุมการเทคอนกรีตให้เป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และควบคุมดูแลมิให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ใต้บริเวณที่เทคอนกรีตนั้น

ข้อ ๖๘ ให้นายจ้างสร้าง ประกอบ ติดตั้ง และตรวจสอบค้ำยันให้มั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัย

หมวด ๗

เครื่องจักรและปั้นจั่น

ส่วนที่ ๑

เครื่องจักร

ข้อ ๖๙ ในกรณีที่มีการติดตั้งหรือทดสอบการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในหรือนอกอาคารซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอันอาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น การติดตั้งหรือทดสอบการทำงานของระบบไฟฟ้าหรือเครื่องจักร นายจ้างต้องจัดให้มีวิศวกรวางแผนงานและควบคุมตลอดเวลาที่ทำการติดตั้งหรือทดสอบ ในกรณีที่การติดตั้งหรือทดสอบยังไม่แล้วเสร็จต้องปิดกั้นพื้นที่หรือห้องที่มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตั้งหรือทดสอบให้มิดชิดและปลอดภัยก่อนจะทำการติดตั้งหรือทดสอบคราวต่อไป

ข้อ ๗๐ ในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรที่อาจเกิดอันตราย นายจ้างต้องใช้ลูกจ้างซึ่งมีความชำนาญในการใช้เครื่องจักรนั้น และผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๗๑ ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องป้องกันอันตรายสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานกับเครื่องจักร เช่น หลังคาเก๋ง ที่ปิดครอบแท่นหมุน เครื่องปิดบังประกายไฟ หรือตะแกรงเหล็กเหนียว

ข้อ ๗๒ ให้นายจ้างควบคุมดูแลมิให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องควบคุมหรือในรัศมีการทำงานของเครื่องจักร และควบคุมดูแลมิให้ผู้ใดห้อย โหน เกาะ ยืน หรือโดยสารไปกับเครื่องจักรซึ่งเคลื่อนที่ได้และมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น

ในกรณีที่มีลูกจ้างทำงานในรัศมีการทำงานของเครื่องจักร นายจ้างต้องดูแลระมัดระวังมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากเครื่องจักรหรือวัสดุสิ่งของที่ตกจากเครื่องจักรนั้น

ข้อ ๗๓ ให้นายจ้างดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานก่อสร้างให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีและปลอดภัย ตามระยะเวลาการใช้งานที่เหมาะสม และการตรวจรับรองประจำปีตามชนิดและประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานก่อสร้างชำรุดบกพร่องอันอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตราย ให้นายจ้างจัดให้มีการซ่อมแซมทันที และมิให้ลูกจ้างใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์นั้นจนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จและใช้งานได้โดยปลอดภัย

ข้อ ๗๔ ในกรณีที่อาจเกิดอันตรายจากการเคลื่อนที่ของเครื่องจักรใด ให้นายจ้างติดตั้งอุปกรณ์เตือนอันตรายที่เครื่องจักรนั้น เช่น สัญญาณเสียงและแสงสำหรับการเดินหน้าหรือถอยหลังของเครื่อง จักร และติดป้ายเตือนอันตรายให้เห็นได้ชัดเจน

ส่วนที่ ๒

ปั้นจั่น

ข้อ ๗๕ ในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ หรือผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น ผ่านการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และต้องจัดให้มีการอบรมหรือทบทวนการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น

ข้อ ๗๖ ในการประกอบ การทดสอบ การใช้ และการซ่อมบำรุง ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะของปั้นจั่นและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตปั้นจั่นกำหนดไว้ หากไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะหรือคู่มือการใช้งานดังกล่าว ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะหรือคู่มือการใช้งานที่วิศวกรได้กำหนดขึ้นเป็นหนังสือ

หมวด ๘

ลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราวและลิฟต์โดยสารชั่วคราว

ข้อ ๗๗ ลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราว และลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราว ต้องมีรายละเอียดของหอลิฟต์ ตัวลิฟต์ ข้อกำหนดในการสร้าง และข้อปฏิบัติในการใช้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๗๘ ในการประกอบ การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การซ่อมบำรุง และการตรวจสอบลิฟต์ตามข้อ ๗๗ ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะของลิฟต์แต่ละประเภทและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตลิฟต์กำหนดไว้ หากไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะหรือคู่มือการใช้งานดังกล่าว ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะหรือคู่มือการใช้งานที่วิศวกรได้กำหนดขึ้นเป็นหนังสือ

ข้อ ๗๙ ให้นายจ้างติดป้ายบอกน้ำหนักบรรทุกสูงสุดสำหรับลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราวและป้ายบอกน้ำหนักบรรทุกและจำนวนผู้โดยสารสูงสุดสำหรับลิฟต์โดยสารชั่วคราวไว้ภายในและภายนอกลิฟต์ให้เห็นชัดเจน

ข้อ ๘๐ ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์ตามข้อ ๗๗ ทุกเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยวิศวกรเป็นผู้ควบคุมและบันทึกวันเวลาที่ตรวจสอบ และเก็บผลการตรวจสอบไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ข้อ ๘๑ ให้นายจ้างควบคุมดูแลมิให้บุคคลใดโดยสารลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราวและให้ติดป้ายห้ามโดยสารให้เห็นได้ชัดเจน เว้นแต่เป็นการติดตั้ง ตรวจสอบ บำรุงรักษา และรื้อถอนโดยผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น

ข้อ ๘๒ ให้นายจ้างควบคุมดูแลมิให้บุคคลใดโดยสารบนหลังคาลิฟต์โดยสารชั่วคราวเว้นแต่เป็นการติดตั้ง ตรวจสอบ บำรุงรักษา และรื้อถอนโดยผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น

ข้อ ๘๓ การใช้ลิฟต์ตามข้อ ๗๗ นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำข้อกำหนดในการใช้ลิฟต์ติดไว้บริเวณที่มีการใช้ลิฟต์ให้เห็นได้ชัดเจน และควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวโดยเคร่งครัด

(๒) จัดให้มีลูกจ้างซึ่งอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และได้รับการฝึกอบรมการใช้ลิฟต์มาแล้วทำหน้าที่บังคับลิฟต์ประจำตลอดเวลาที่ใช้ลิฟต์

(๓) บริเวณที่ผู้บังคับลิฟต์ทำงานจะต้องจัดให้มีหลังคาที่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายจากการตกหล่นของวัสดุสิ่งของ

(๔) ให้มีการตรวจสอบลิฟต์ก่อนการใช้งานทุกวัน หากส่วนใดชำรุดเสียหายต้องซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนใช้งาน

(๕) ในกรณีที่ลิฟต์ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หรือไม่มีผู้ทำหน้าที่บังคับลิฟต์ต้องปิดสวิตช์พร้อมทั้งใส่กุญแจและติดป้าย “ห้ามใช้ลิฟต์” ให้ลูกจ้างทราบ

(๖) จัดวางและป้องกันมิให้วัสดุตกหรือยื่นออกมาขัดกับโครงหอลิฟต์

(๗) ในการใช้ลิฟต์ขนรถหรือเครื่องมือที่มีล้อ ต้องป้องกันมิให้รถหรือเครื่องมือนั้นเคลื่อนที่ได้

หมวด ๙

เชือก ลวดสลิง และรอก

ข้อ ๘๔ การนำเชือกหรือลวดสลิงมาใช้กับรอก นายจ้างต้องควบคุมดูแลให้มีการใช้เชือกหรือลวดสลิงที่มีขนาดเหมาะสมกับร่องรอก และเชือกหรือลวดสลิงดังกล่าวต้องไม่ผุเปื่อยหรือชำรุดจนทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน

ข้อ ๘๕ ในกรณีมีจุดที่เชือกหรือลวดสลิงจะครูดได้ ให้นายจ้างจัดหาลูกกลิ้งหรือวัสดุอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกันรองที่จุดนั้นเพื่อไม่ให้มีการครูด

ข้อ ๘๖ การใช้เชือก ลวดสลิง และรอก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

หมวด ๑๐

ทางเดินชั่วคราวยกระดับสูง

ข้อ ๘๗ ทางเดินชั่วคราวยกระดับสูงตั้งแต่ ๑๕๐ เซนติเมตร ขึ้นไป นายจ้างต้องจัดสร้างทางเดินนั้นด้วยวัสดุที่มีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ตามสภาพการใช้งานจริง แต่ไม่น้อยกว่า ๒๕๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตร มีความกว้างไม่น้อยกว่า ๔๕ เซนติเมตร และต้องมีราวกั้นหรือรั้วกันตกตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดทางเดินนั้น

ข้อ ๘๘ ทางเดินชั่วคราวยกระดับสูงซึ่งมีลักษณะเป็นทางลาดชัน ให้นายจ้างจัดให้มีวัสดุป้องกันการลื่นและดูแลให้เกิดความปลอดภัยตลอดเวลาทำงาน

หมวด ๑๑

การทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูง

การพังทลาย และการกระเด็นหรือตกหล่นของวัสดุ

ส่วนที่ ๑

การป้องกันการตกจากที่สูง

ข้อ ๘๙ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่สูงจากพื้นดินหรือพื้นอาคารตั้งแต่ ๒ เมตรขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีนั่งร้าน บันได ขาหยั่ง หรือม้ายืน ที่ปลอดภัยตามสภาพของงานสำหรับลูกจ้างในการทำงานนั้น

ข้อ ๙๐ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำ งานบนที่ลาดชันที่ทำ มุมเกินสามสิบองศาจากแนวราบและสูงตั้งแต่ ๒ เมตร ขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้านที่เหมาะสมกับสภาพของงานสายหรือเชือกช่วยชีวิต และเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ หรือเครื่องป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ให้ลูกจ้างใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๙๑ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสถานที่ที่ลูกจ้างอาจได้รับอันตรายจากการพลัดตกหรือถูกวัสดุพังทับ เช่น การทำงานบนหรือในเสา ตอม่อ เสาไฟฟ้า ปล่อง หรือคานที่มีความสูงตั้งแต่ ๔ เมตร ขึ้นไป หรือทำงานบนหรือในถัง บ่อ กรวยสำหรับเทวัสดุ หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องจัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก ตาข่าย สิ่งปิดกั้น หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน เพื่อป้องกันการพลัดตกของลูกจ้างหรือสิ่งของ และจัดให้มีการใช้สายหรือเชือกช่วยชีวิตและเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ หรือเครื่องป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ให้ลูกจ้างใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ข้อ ๙๒ งานก่อสร้างที่มีปล่องหรือช่องเปิดซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างหรือสิ่งของพลัดตก นายจ้างต้องจัดทำฝาปิดที่แข็งแรง ราวกั้นหรือรั้วกันตกที่มีความสูงไม่น้อยกว่า ๙๐ เซนติเมตร และแผงทึบหรือขอบกันของตกมีความสูงไม่น้อยกว่า ๗ เซนติเมตร พร้อมทั้งติดป้ายเตือนอันตราย

ข้อ ๙๓ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในชั้นของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่เปิดโล่งและอาจพลัดตกลงมาได้ นายจ้างต้องจัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตกตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน

ส่วนที่ ๒

การใช้นั่งร้าน บันได ขาหยั่ง และม้ายืน

ข้อ ๙๔ การใช้นั่งร้าน นายจ้างต้องกำกับดูแลมิให้ลูกจ้าง

(๑) ทำงานบนนั่งร้านเมื่อพื้นนั่งร้านลื่น

(๒) ทำงานบนนั่งร้านที่มีส่วนใดชำรุดอันอาจเป็นอันตราย

(๓) ทำงานบนนั่งร้านแขวนหรือนั่งร้านแบบกระเช้าขณะฝนตกหรือลมแรงอันอาจเป็นอันตราย และในกรณีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวให้รีบนำนั่งร้านดังกล่าวลงสู่พื้นดิน

ในกรณีที่มีการทำงานบนนั่งร้านหลายชั้นพร้อมกัน ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ทำงานอยู่ชั้นล่าง

ข้อ ๙๕ ให้นายจ้างสร้าง ประกอบ ติดตั้ง และตรวจสอบนั่งร้าน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๙๖ ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้บันไดไต่ในงานก่อสร้าง นายจ้างต้องจัดหาบันไดที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงทนทานและมีความปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ ๙๗ ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้ขาหยั่งหรือม้ายืนในการทำงาน นายจ้างต้องจัดให้มีการดูแลขาหยั่งหรือม้ายืนนั้นให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงปลอดภัย และมีพื้นที่สำหรับยืนทำงานอย่างเพียงพอ

ส่วนที่ ๓

การป้องกันอันตรายจากการพังทลาย และการกระเด็นหรือตกหล่นของวัสดุ

ข้อ ๙๘ ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในบริเวณที่อาจมีการพังทลาย หรือการกระเด็นหรือตกหล่นของหิน ดิน ทราย หรือวัสดุต่าง ๆ นายจ้างต้องจัดทำไหล่หิน ดิน ทราย หรือวัสดุนั้นให้ลาดเอียงเป็นมุมหรือวิธีการอื่นที่ป้องกันการพังทลาย

ข้อ ๙๙ ในกรณีที่ให้ลูกจ้างทำงานในท่อ ช่อง โพรง อุโมงค์ หรือบ่อที่อาจมีการพังทลาย นายจ้างต้องจัดทำผนังกั้น ค้ำยัน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกันอันตรายนั้นได้

ข้อ ๑๐๐ ให้นายจ้างป้องกันการกระเด็นหรือตกหล่นของวัสดุโดยใช้ผ้าใบ ตาข่าย หรือวัสดุอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันปิดกั้นหรือรองรับในกรณีที่มีการลำเลียงวัสดุขึ้นหรือลงจากที่สูง หรือจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ให้นายจ้างจัดทำราง ปล่อง หรือใช้เครื่องมือและวิธีการลำเลียงที่เหมาะสมและปลอดภัย

ในกรณีที่ต้องใช้สายพาน เชือก หรือลวดสลิงในการลำเลียงวัสดุ ให้นายจ้างจัดทำโครงสร้างและที่สำหรับเกาะเกี่ยวให้มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

หมวด ๑๒

งานอุโมงค์

ข้อ ๑๐๑ ให้นายจ้างจัดให้มีการอบรมวิธีทำงานในอุโมงค์และวิธีป้องกันอันตรายแก่ลูกจ้างก่อนเข้าทำงานในอุโมงค์ และต้องอบรมทบทวนหรือเพิ่มเติมเป็นประจำไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง

ข้อ ๑๐๒ ในการขุดเจาะอุโมงค์ ให้นายจ้างจัดให้มีวิศวกรซึ่งมีประสบการณ์ด้านอุโมงค์และด้านปฐพีวิศวกรรม เป็นผู้ออกแบบและกำหนดวิธีปฏิบัติงาน และต้องมีวิศวกรซึ่งมีประสบการณ์ด้านงานขุดเจาะอุโมงค์เป็นผู้ควบคุมงานตลอดเวลา

การขุดเจาะอุโมงค์โดยใช้วัตถุระเบิด ให้นายจ้างจัดให้มีผู้ชำนาญการด้านวัตถุระเบิดเป็นผู้ควบคุมการใช้และปริมาณการใช้วัตถุระเบิด และต้องมีวิศวกรซึ่งมีประสบการณ์ด้านงานขุดเจาะอุโมงค์โดยใช้วัตถุระเบิดเป็นผู้ควบคุมงานและกำหนดวิธีป้องกันอันตรายตลอดเวลาทำงาน

ข้อ ๑๐๓ การก่อสร้างอุโมงค์และการทำงานในอุโมงค์ ให้นายจ้างปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อ ความปลอดภัยที่อธิบดีประกาศกำหนด

หมวด ๑๓

งานก่อสร้างในน้ำ

ข้อ ๑๐๔ ก่อนให้ลูกจ้างทำงานก่อสร้างในน้ำ ให้นายจ้างดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน และติดประกาศหรือแจ้งให้ลูกจ้างทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

(๒) จัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดภัยจากธรรมชาติ และจัดให้มีการอบรมและฝึกซ้อมตามแผนฉุกเฉินนั้น

(๓) จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีหรือหน่วยงานอื่น เช่น ชูชีพ เข็มขัดนิรภัย สายชูชีพ และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอื่น ๆ โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้างซึ่งทำงานก่อสร้างในน้ำ

(๔) จัดให้มีการตรวจสอบการขึ้นลงของระดับน้ำอย่างสม่ำเสมอ เว้นแต่สภาพของพื้นที่ไม่มีการขึ้นลงของระดับน้ำ

ข้อ ๑๐๕ ในกรณีที่มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในงานก่อสร้างในน้ำ ให้นายจ้างจัดหาและดูแลให้อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นเป็นชนิดที่สามารถป้องกันน้ำ ความชื้น หรือไอระเหยของสารที่มีความไวไฟซึ่งอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร การลุกไหม้ หรือการระเบิดได้

ข้อ ๑๐๖ ในการทำงานบนแคร่ลอยหรือนั่งร้านเหนือพื้นน้ำ ให้นายจ้างจัดให้มี

(๑) การยึดโยงหรือติดตรึงโครงสร้างรองรับและโครงเครื่องจักร รวมทั้งอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนแคร่ลอยหรือนั่งร้านให้มั่นคงปลอดภัย

(๒) สะพานทางเดินและบันไดเชื่อมต่อระหว่างแคร่ลอยกับฝั่งหรือแคร่ลอยที่อยู่ใกล้เคียงให้มั่นคงปลอดภัยตามความจำเป็น

(๓) การดูแลให้เกิดความปลอดภัยและรักษาความสะอาดพื้นแคร่ลอยหรือนั่งร้านตลอดเวลาทำงาน

(๔) การสวมใส่ชูชีพตลอดเวลาทำงาน และถ้ามีการทำงานในเวลากลางคืน ชูชีพต้องติดพรายน้ำหรือวัสดุเรืองแสงด้วย

หมวด ๑๔

การรื้อถอนทำลาย

ข้อ ๑๐๗ การรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้นายจ้างจัดให้มีวิศวกรกำหนดขั้นตอน วิธีการ และควบคุมดูแลการทำงานของลูกจ้างให้มีความปลอดภัย และจัดการอบรมหรือชี้แจงลูกจ้างเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงาน

ข้อ ๑๐๘ การรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้าง ให้นายจ้างดำเนินการเพื่อความปลอดภัย ดังต่อไปนี้

(๑) ตัดไฟฟ้า ก๊าซ ประปา ไอน้ำ หรือพลังงานอย่างอื่นที่ใช้อยู่ในสิ่งก่อสร้างที่จะรื้อถอนทำลาย

(๒) ขจัดหรือเคลื่อนย้ายสารเคมี ถังก๊าซ วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันให้ออกจากบริเวณที่ทำการรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างให้ถูกวิธีและปลอดภัย

(๓) เอาของแหลมคม กระจก หรือวัสดุอื่นที่หลุดร่วงหรือแตกได้ง่ายออกให้หมดก่อนการรื้อถอนทำลาย

(๔) จัดให้มีแผงรับวัสดุที่อาจร่วงหล่นจากการรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างนั้น และแผงรับวัสดุดังกล่าวต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสามารถรองรับวัสดุที่ร่วงหล่นได้อย่างปลอดภัย

(๕) จัดให้มีการฉีดน้ำหรือใช้วิธีอื่นที่เหมาะสมเพื่อป้องกันหรือขจัดฝุ่นตลอดเวลาทำงานในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า น้ำ สาธารณูปโภค หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ในระหว่างการรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้าง ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการป้องกันอันตรายในการใช้สิ่งเหล่านั้น

ข้อ ๑๐๙ ในกรณีที่รื้อถอนทำลายด้วยวัตถุระเบิด ให้นายจ้างจัดให้มีผู้ชำนาญการด้านวัตถุระเบิดและวิศวกรซึ่งมีประสบการณ์ด้านการรื้อถอนทำลายด้วยวัตถุระเบิดเป็นผู้ควบคุมงานและกำหนดวิธีป้องกันอันตรายตลอดเวลาทำงาน

ข้อ ๑๑๐ ให้นายจ้างจัดให้มีการขนย้ายวัสดุที่รื้อถอนทำลายแล้วออกจากบริเวณที่รื้อถอนทำลายหรือจัดเก็บให้ปลอดภัย

ในกรณีที่มีการขนย้ายวัสดุที่รื้อถอนทำลายในที่ต่างระดับ ให้กระทำโดยวิธีที่ปลอดภัยและให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันอันตราย

หมวด ๑๕

การคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

ข้อ ๑๑๑ ให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทำงาน ดังต่อไปนี้

(๑) งานไม้หรืองานสี ให้สวมหมวกนิรภัย และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น

(๒) งานเหล็ก งานอุโมงค์ หรืองานประกอบ ติดตั้ง ซ่อมบำรุง ยก ขน แบก หรือหามของหนักอันอาจเกิดอันตรายร้ายแรง ให้สวมหมวกนิรภัย ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้นหรือรองเท้านิรภัย

(๓) งานประปาหรืองานติดตั้งกระจก ให้สวมหมวกนิรภัย ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น

(๔) งานก่ออิฐ ฉาบปูน หรือตกแต่งผิวปูน ให้สวมหมวกนิรภัย ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น

(๕) งานคอนกรีต เช่น ผสมปูนซีเมนต์ เทคอนกรีต ให้สวมหมวกนิรภัย ถุงมือยาง และรองเท้ายางหุ้มแข้ง

(๖) งานเชื่อมหรือตัดชิ้นงานด้วยไฟฟ้า ก๊าซ หรือพลังงานอื่น ให้สวมกระบังหน้าลดแสง หรือแว่นตาลดแสง ถุงมือผ้าหรือหนัง รองเท้าพื้นยางหุ้มส้นหรือรองเท้านิรภัย และแผ่นปิดหน้าอกกันประกายไฟ

(๗) งานตัด รื้อถอน สกัด ทุบ หรือเจาะวัสดุที่เป็นฝุ่น ให้สวมหมวกนิรภัย แว่นตานิรภัย ที่กรองอากาศสำหรับใช้ครอบจมูกและปากกันฝุ่น ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้นหรือรองเท้านิรภัย

(๘) งานที่มีเสียงดังเกินที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยเกี่ยวกับเสียง ให้สวมปลั๊กลดเสียงหรือครอบหูลดเสียง

(๙) งานสารพิษ ให้สวมหมวกนิรภัย ชุดหน้ากากป้องกันสารพิษ ถุงมือยางที่กันอันตรายจากสารเคมีกระเด็น และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น

(๑๐) งานกระเช้าแขวน นั่งร้านแขวน หรืองานที่มีลักษณะโล่งแจ้งในที่สูงตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป ให้สวมหมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัยพร้อมสายหรือเชือกช่วยชีวิต และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น

(๑๑) งานเจาะหรืองานขุด ให้สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับสภาพของงาน

นอกจากอุปกรณ์ที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอื่นให้ลูกจ้างตามความเหมาะสมกับลักษณะงานด้วย

ข้อ ๑๑๒ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามข้อ ๑๑๑ ต้องจัดให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน และเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนดและได้รับความเห็นชอบจากวิศวกรหรือผู้ควบคุมงาน โดยให้มีการตรวจสอบและอบรมการใช้อุปกรณ์นั้นก่อนการใช้งาน

 

 

 

 

 

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

อุไรวรรณ เทียนทอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๑๐ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๑

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๐๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานให้นายจ้างดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ที่มา: http://www.bsa.or.th/

Read more

อาคารประเภทใด? เมื่อประสงค์จะรื้อถอนอาคาร ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น?

สุภาษิตว่า:- การพบกันคือการเริ่มต้นของการจาก, อาคารก็เหมือนชีวิตมนุษย์ เมื่อถึงที่สุดย่อมหลีกไม่พ้นการจากลา อาคารเก่าคร่ำคร่า ผ่านมาทั้งสุข เศร้า เหงาและรัก ถึงเวลาก็ต้องจากกัน การรื้อถอนเป็นปลายทาง แต่การรื้อถอนอาคาร จะกระทำการได้ตามอำเภอใจก็หาไม่ เพราะมีกฎหมายควบคุมไว้ ตัวบทว่าอย่างไร เราลองมาพิจารณาดูกัน:-

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขโดย พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๒ บัญญัติไว้ว่า:- ผู้ใดจะรื้อถอนอาคารดังต่อไปนี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ

(๑) อาคารที่มีส่วนสูงเกินสิบห้าเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร

(๒) อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าสองเมตร

พิจารณาจากวรรคหนึ่งแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้ :-

  1. ผู้ใด
  2. จะรื้อถอนอาคารดังต่อไปนี้
  3. ต้องได้รับใบอนุญาต
  4. จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  5. หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  6. และดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ

ดูต่อมาที่ (๑) จะแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้:-

  1.  อาคาร
  2. ที่มีส่วนสูง
  3. เกินสิบห้าเมตร
  4. ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่น
  5. หรือที่สาธารณะ
  6. น้อยกว่าความสูงของอาคาร

และสุดท้ายใน (๒) จะแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้:-

  1. อาคาร
  2. ที่อยู่ห่าง
  3. จากอาคารอื่น
  4. หรือที่สาธารณะ
  5. น้อยกว่าสองเมตร 

จะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาจากวรรคหนึ่ง การรื้อถอนอาคารจะทำได้ในสองแนวทาง คือ:-

  • แนวทางที่๑ ขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  • แนวทางที่๒ ไม่ต้องขออนุญาต แต่แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ

เมื่อพิจารณาต่อมาใน (๑)และ(๒) ซึ่ง จะกล่าวถึงลักษณะของอาคาร ที่ต้องขอหรือแจ้ง ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งนี้ เมื่ออ่านบทบัญญัติจากทั้งสองวงเล็บ ย่อมเห็นได้ว่า กฎหมายแบ่งอาคารออกเป็น ๒ กรณี คือ:- 

  • กรณีที่ ๑ อาคารที่ส่วนสูงเกิน ๑๕ เมตร
  • กรณีที่ ๒ อาคารโดยทั่วไป

เราวิเคราะห์อะไร ออกมาจากบทบัญญัติของกฎหมายได้บ้าง ตามสายตาของสถาปนิกอย่างกระผม วิเคราะห์ ออกมาได้ ดังนี้:-

กรณีอาคารโดยทั่วไป หากอยู่ห่างจากอาคารอื่น หรือที่สาธารณะ น้อยกว่า ๒ เมตร เมื่อจะทำการรื้อถอนอาคาร ก็ต้องขอหรือแจ้ง เจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ถ้าห่างตั้งแต่ ๒ เมตรขึ้นไป เช่น ห่าง ๒ เมตร ๓ เมตร ๔ เมตร…. ก็ไม่ต้องขอหรือแจ้ง ส่วน กรณี ถ้าเป็นอาคารประเภทที่สูงเกิน ๑๕ เมตร นั้น ระยะห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะ ๑ เมตร ๒ เมตร ๓ เมตร ๔ เมตร… จนถึงระยะน้อยกว่าความสูงอาคารที่จะรื้อถอน ก็ต้องขอหรือแจ้ง ต่อเมื่อระยะห่างเท่ากับหรือมากกว่าความสูงอาคาร เมื่อใด จึงจะไม่ต้องขอหรือแจ้งรื้อถอนอาคาร

อาคารอื่น ในที่นี้ ย่อมเป็นอาคารทุกประเภทตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ซึ่ง บัญญัตินิยามไว้ในมาตรา ๔ โดยต้องดูกฎกระทรวง กำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่ออกโดยอาศัยมาตรา ๔ ประกอบด้วย เช่น สระว่ายน้ำภายนอกอาคารที่มีความจุ ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตร ก็เป็นอาคารแล้ว หรือ รั้ว กำแพง ประตู ที่สร้างติดกับที่สาธารณะ แม้กระทั่งที่จอดรถ ป้าย ที่มิใช่อาคารโดยสภาพ ก็ล้วนเป็นอาคารอื่น ตามบทบัญญัตินี้ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ ที่สาธารณะ ก็โปรดอย่าเข้าใจว่า คือ เฉพาะทางสาธารณะ เท่านั้น เพราะ ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะ วัดวาอาราม สถานที่ราชการ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นที่สาธารณะตามความหมายของบทบัญญัตินี้ทุกประการ

ที่มา: ชมรมสถาปนิกกรุงเทพมหานคร

เว็ปไซด์: http://oknation.nationtv.tv/blog/architect-bma-club/2010/12/25/entry-1

 

Read more

คู่มือสำหรับประชาชน: การขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามมาตรา 22

คู่มือสำหรับประชาชน: การขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามมาตรา 22

หน่วยงานที่รับผิดชอบ:กรมโยธาธิการและผังเมือง

กระทรวง:กระทรวงมหาดไทย

  1. ชื่อกระบวนงาน:การขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามมาตรา 22
  2. หน่วยงานเจ้าของกระบวนงาน:กรมโยธาธิการและผังเมือง
  3. ประเภทของงานบริการ:กระบวนงานบริการที่ให้บริการในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น (กระบวนงานบริการที่เบ็ดเสร็จในหน่วยเดียว)
  4. หมวดหมู่ของงานบริการ:อนุญาต/ออกใบอนุญาต/รับรอง
  5. กฎหมายที่ให้อำนาจการอนุญาต หรือที่เกี่ยวข้อง:
1) พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.. 2522

 

  1. ระดับผลกระทบ: บริการที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ/สังคม
  2. พื้นที่ให้บริการ: ท้องถิ่น
  3. กฎหมายข้อบังคับ/ข้อตกลงที่กำหนดระยะเวลา พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 กฏกระทรวงข้อบัญญัติท้องถิ่นและประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522

ระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย / ข้อกำหนด ฯลฯ           45วัน

  1. ข้อมูลสถิติ

     จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน0     

     จำนวนคำขอที่มากที่สุด 0

     จำนวนคำขอที่น้อยที่สุด 0

  1. ชื่ออ้างอิงของคู่มือประชาชน [สำเนาคู่มือประชาชน] การขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามมาตรา 22 21/05/2558 15:48
  2. ช่องทางการให้บริการ
1) สถานที่ให้บริการที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดำเนินการรื้อถอนอาคาร /ติดต่อด้วยตนเองณหน่วยงาน

ระยะเวลาเปิดให้บริการ เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดที่ทางราชการกำหนด) ตั้งแต่เวลา 08:30 – 16:30 . (มีพักเที่ยง)

หมายเหตุ

 

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข(ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ และในการพิจารณาอนุญาต

ผูใดจะรื้อถอนอาคารที่มีส่วนสูงเกิน 15เมตรซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคารและอาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่า๒เมตรต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายใน 45วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอในกรณีมีเหตุจำเป็นที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่อาจออกใบอนุญาตหรือยังไม่อาจมีคำสั่งไม่อนุญาตได้ภายในกำหนดเวลาให้ขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 2คราวคราวละไม่เกิน 45วันแต่ต้องมีหนังสือแจ้งการขยายเวลาและเหตุจำเป็นแต่ละคราวให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบก่อนสิ้นกำหนดเวลาหรือตามที่ได้ขยายเวลาไว้นั้นแล้วแต่กรณี
 

  1. ขั้นตอน ระยะเวลา และส่วนงานที่รับผิดชอบ
ที่ ประเภทขั้นตอน รายละเอียดของขั้นตอนการบริการ ระยะเวลาให้บริการ ส่วนงาน / หน่วยงานที่รับผิดชอบ หมายเหตุ
1) การตรวจสอบเอกสาร

 

ยื่นขออนุญาตรื้อถอนอาคารพร้อมเอกสาร

 

1 วัน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะขออนุญาตรื้อถอนอาคาร)
2) การพิจารณา

 

เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาเอกสารประกอบการขออนุญาต

 

2 วัน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะขออนุญาตรื้อถอนอาคาร)
3) การพิจารณา

 

เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างจัดทำผังบริเวณแผนที่สังเขปตรวจสอบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องเขตปลอดภัยในการเดินอากาศเขตปลอดภัยทางทหารฯและพรบ.จัดสรรที่ดินฯ

 

7 วัน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะขออนุญาตรื้อถอนอาคาร)
4) การลงนาม/คณะกรรมการมีมติ

 

เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแบบแปลนและพิจารณาออกใบอนุญาต (อ.1) และแจ้งให้ผู้ขอมารับใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร (น.1)

 

35 วัน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะขออนุญาตรื้อถอนอาคาร)

ระยะเวลาดำเนินการรวม 45 วัน

 

  1. งานบริการนี้ผ่านการดำเนินการลดขั้นตอน และระยะเวลาปฏิบัติราชการมาแล้ว

ยังไม่ผ่านการดำเนินการลดขั้นตอน

 

  1. รายการเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอ

15.1) เอกสารยืนยันตัวตนที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ

ที่ รายการเอกสารยืนยันตัวตน หน่วยงานภาครัฐผู้ออกเอกสาร จำนวนเอกสาร
ฉบับจริง
จำนวนเอกสาร
สำเนา
หน่วยนับเอกสาร หมายเหตุ
1) บัตรประจำตัวประชาชน 0 1 ฉบับ (กรณีบุคคลธรรมดา)
2) หนังสือรับรองนิติบุคคล 0 1 ชุด (กรณีนิติบุคคล)

 

15.2) เอกสารอื่น ๆ สำหรับยื่นเพิ่มเติม

ที่ รายการเอกสารยื่นเพิ่มเติม หน่วยงานภาครัฐผู้ออกเอกสาร จำนวนเอกสาร
ฉบับจริง
จำนวนเอกสาร
สำเนา
หน่วยนับเอกสาร หมายเหตุ
1) แบบคำขออนุญาตรื้อถอนอาคาร  (แบบข. 1) 1 0 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ขออนุญาต)
2) หนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของผู้ออกแบบขั้นตอนวิธีการและสิ่งป้องกันวัสดุร่วงหล่นในการรื้อถอนอาคาร (กรณีที่เป็นอาคารมีลักษณะขนาดอยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม) 1 0 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ขออนุญาต)
3) โฉนดที่ดินน.ส.3 หรือส.ค.1 ขนาดเท่าต้นฉบับทุกหน้าพร้อมเจ้าของที่ดินลงนามรับรองสำเนาทุกหน้ากรณีผู้ขออนุญาตไม่ใช่เจ้าของที่ดินต้องมีหนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดินให้รื้อถอนอาคารในที่ดิน 0 1 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ขออนุญาต)
4) ใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมหรือใบอนุญาตฯฉบับต่ออายุหรือใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการ (ส่วนขยาย) พร้อมเงื่อนไขและแผนผังที่ดินแนบท้าย (กรณีอาคารอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม) 1 0 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ขออนุญาต)
5) กรณีที่มีการมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาทพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนสำเนาทะเบียนบ้านหรือหนังสือเดินทางของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ 1 0 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ขออนุญาต)
6) บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลผู้รับมอบอำนาจเจ้าของที่ดิน (กรณีเจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคล) 0 1 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ขออนุญาต)
7) กรณีที่มีการมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาทพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนสำเนาทะเบียนบ้านหรือหนังสือเดินทางของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนของผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลผู้รับมอบอำนาจเจ้าของอาคาร (กรณีเจ้าของอาคารเป็นนิติบุคคล) 0 1 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ขออนุญาต)
8) หนังสือรับรองของสถาปนิกผู้ออกแบบพร้อมสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม (กรณีที่เป็นอาคารมีลักษณะขนาดอยู่ในประเภทวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม) 1 0 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ออกแบบและควบคุมงาน)
9) หนังสือรับรองของวิศวกรผู้ออกแบบพร้อมสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (กรณีที่เป็นอาคารมีลักษณะขนาดอยู่ในประเภทวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม) 1 0 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ออกแบบและควบคุมงาน)
10) แผนผังบริเวณแบบแปลนรายการประกอบแบบแปลนที่มีลายมือชื่อพร้อมกับเขียนชื่อตัวบรรจงและคุณวุฒิที่อยู่ของสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบตามกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ.2528) 1 0 ชุด (เอกสารในส่วนของผู้ออกแบบและควบคุมงาน)

 

  1. ค่าธรรมเนียม
1) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฉบับที่ 7 .. 2528 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.. 2522

 

ค่าธรรมเนียม0 บาท

หมายเหตุ

 

  1. ช่องทางการร้องเรียน
1) ช่องทางการร้องเรียนกรุงเทพมหานครร้องเรียนผ่านกรมโยธาธิการและผังเมือง
หมายเหตุ(1. ทางอินเทอร์เน็ต (http://www.dpt.go.th)
2.
ทางโทรศัพท์ (.พระราม 9 : 02-201-8000 , .พระรามที่ 6 : 02-299-4000)
3.
ทางไปรษณีย์ (224 .พระราม 9 แขวงห้วยขวางเขตห้วยขวางกรุงเทพฯ 10320
และ 218/1 .พระรามที่ 6 แขวงสามเสนในเขตพญาไทกรุงเทพฯ 10400)
4.
ศูนย์ดำรงธรรมกรมโยธาธิการและผังเมือง (โทร. 02-299-4311-12)
5.
ร้องเรียนด้วยตนเอง
6.
ตู้รับฟังความคิดเห็น (ตั้งอยู่ณศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของราชการถนนพระรามที่ 6)
)
2) ช่องทางการร้องเรียนจังหวัดอื่นๆร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
หมายเหตุ(ผ่านศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดทุกจังหวัด)
3) ช่องทางการร้องเรียนศูนย์บริการประชาชนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ( เลขที่ 1 .พิษณุโลกเขตดุสิตกทม. 10300 / สายด่วน 1111 / www.1111.go.th / ตู้ปณ.1111 เลขที่ 1 .พิษณุโลกเขตดุสิตกทม. 10300)

 

  1. ตัวอย่างแบบฟอร์ม ตัวอย่าง และคู่มือการกรอก
ไม่มีแบบฟอร์ม ตัวอย่าง และคู่มือการกรอก

 

  1. หมายเหตุ

 

วันที่พิมพ์ 16/07/2558
สถานะ เผยแพร่คู่มือบนเว็บไซต์แล้ว
จัดทำโดย อภิชาติ. วงษา
อนุมัติโดย สินิทธิ์บุญสิทธิ์
เผยแพร่โดย ANUSORN JIRAPITAK

 

Read more

การรื้อถอนบ้านยังไง ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การรื้อถอนบ้านยังไง ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในการสร้างบ้านบางท่านมีบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรมหรือมีความต้องการจะรื้อบ้านสิ่งปลูกสร้างเดิมก่อนที่จะปลูกบ้านหลังใหม่ ซึ่งในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมนั้น จะต้องมีขั้นตอนของการขออนุญาตจากทางราชการด้วยครับ หากไม่แจ้งแล้วไปทำการรื้อถอน พอไปขออนุญาตสร้างบ้านใหม่ เจ้าหน้าที่จะสวมทะเบียนตามมูลค่าเดิม ทำให้บ้านใหม่มีมูลค่าเท่าบ้านเดิมทั้งที่จริง ๆ แล้วอาจจะมีราคามากกว่า ดังนั้นเราควรแจ้งรื้อถอนเพื่อจะได้ลบข้อมูลเดิมออกแล้วใส่ข้อมูลใหม่เข้าไปแทน ถ้าในอนาคตต้องการใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง นอกจากนั้น หากเราทำการรื้อถอนโดยไม่ได้ขออนุญาตแล้ว จะถูกดำเนินคดีย้อนหลังได้ ดังนั้นในการรื้อถอนบ้านเราควรทำตามขั้นตอนทางกฎหมายให้เรียบร้อย

จะขอยกข้อกฎหมายที่บัญญัติในเรื่องการรื้อถอนอาคารให้เป็นข้อมูลไว้สักนิดเพื่อให้เข้าใจว่า ยังไงก็ตามเมื่อต้องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 “ผู้ใดจะรื้อถอนอาคารที่มีส่วนสูงเกิน 15 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร  และอาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตรต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต”

โดยเอกสารที่จะใช้เพื่อขออนุญาตรื้อถอนมีดังนี้
1. เขียนแบบบ้าน ประกอบไปด้วย
1.1 ) แบบแปลน ทุกชั้น
1.2 ) รูปด้าน 2รูป
1.3 ) รูปตัดอย่างน้อย 2 รูป เหมือนผ่ารถยนต์
1.4 ) รายการประกอบแบบ (ลอกตามแบบราชการ) วัสดุที่ใช้ของอาคาร กรรมวิธีในการรื้อถอน ตามกม .ตามหลักการรื้อถอนอาคาร ไม่เกิน 45 วัน (ทางกฎหมาย)

2. คำร้อง ( ข.1)
3. บัตรประชาชน
4. ใบยินยอมที่ดิน กรณีไม่ใช่ที่ของเรา
5.บัตรทะเบียนบ้านเจ้าของที่ดิน
6.สำเนาโฉนด

ที่เหลือจะ เป็นใบเกี่ยวกับข้องวิศวกรโครงสร้าง, สถาปนิก ที่เขียนแบบให้กับเจ้าของบ้าน  หรือส่วนอื่นๆ ขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะของแต่ละราย หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามไปยังสำนักงานเขตที่บ้านท่านอยู่ในสังกัดของแต่ละพื้นที่ตามความสะดวกเลยครับ สำหรับระยะเวลาของการอนุมัติใบขออนุญาตรื้อถอนนั้นจะอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ การขออนุญาตรื้อถอนจะไม่มีค่าธรรมเนียมตรวจแบบ แต่จะมีค่าขอใบอนุญาต 20 บาทเท่านั้นครับ

การจะสร้างบ้านหรือรื้อถอนบ้าน เพื่อให้ถูกต้องและไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายต่าง ๆ ภายหลัง ควรจะปรึกษาหรือหาข้อมูลก่อนที่จะลงมือทำ เพราะหากทำไปโดยผิดข้อกฎหมายแล้ว จะพบว่าปัญหาที่ตามมาอาจจะยุ่งยากมากกว่าที่คิด ดังนั้นทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก สบายใจกว่าครับ

Read more

การควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง

งานขุดดินและถมดิน

งานตรวจสอบอาคาร 

รายละเอียดผู้ตรวจสอบอาคาร (ผู้ตรวจสอบใหญ่) สำหรับผู้ตรวจสอบอาคาร

 

งานตรวจสอบป้าย

งานควบคุมอาคาร  

ใบอนุญาต ใบรับรองต่างๆ

คำขอต่างๆ

หนังสือแจ้งการดำเนินการต่างๆ

คำสั่งต่างๆ

 

การควบคุมโรงมหรสพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Read more