การรื้อถอนบ้านยังไง ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในการสร้างบ้านบางท่านมีบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรมหรือมีความต้องการจะรื้อบ้านสิ่งปลูกสร้างเดิมก่อนที่จะปลูกบ้านหลังใหม่ ซึ่งในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมนั้น จะต้องมีขั้นตอนของการขออนุญาตจากทางราชการด้วยครับ หากไม่แจ้งแล้วไปทำการรื้อถอน พอไปขออนุญาตสร้างบ้านใหม่ เจ้าหน้าที่จะสวมทะเบียนตามมูลค่าเดิม ทำให้บ้านใหม่มีมูลค่าเท่าบ้านเดิมทั้งที่จริง ๆ แล้วอาจจะมีราคามากกว่า ดังนั้นเราควรแจ้งรื้อถอนเพื่อจะได้ลบข้อมูลเดิมออกแล้วใส่ข้อมูลใหม่เข้าไปแทน ถ้าในอนาคตต้องการใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง นอกจากนั้น หากเราทำการรื้อถอนโดยไม่ได้ขออนุญาตแล้ว จะถูกดำเนินคดีย้อนหลังได้ ดังนั้นในการรื้อถอนบ้านเราควรทำตามขั้นตอนทางกฎหมายให้เรียบร้อย

จะขอยกข้อกฎหมายที่บัญญัติในเรื่องการรื้อถอนอาคารให้เป็นข้อมูลไว้สักนิดเพื่อให้เข้าใจว่า ยังไงก็ตามเมื่อต้องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 “ผู้ใดจะรื้อถอนอาคารที่มีส่วนสูงเกิน 15 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร  และอาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตรต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต”

โดยเอกสารที่จะใช้เพื่อขออนุญาตรื้อถอนมีดังนี้
1. เขียนแบบบ้าน ประกอบไปด้วย
1.1 ) แบบแปลน ทุกชั้น
1.2 ) รูปด้าน 2รูป
1.3 ) รูปตัดอย่างน้อย 2 รูป เหมือนผ่ารถยนต์
1.4 ) รายการประกอบแบบ (ลอกตามแบบราชการ) วัสดุที่ใช้ของอาคาร กรรมวิธีในการรื้อถอน ตามกม .ตามหลักการรื้อถอนอาคาร ไม่เกิน 45 วัน (ทางกฎหมาย)

2. คำร้อง ( ข.1)
3. บัตรประชาชน
4. ใบยินยอมที่ดิน กรณีไม่ใช่ที่ของเรา
5.บัตรทะเบียนบ้านเจ้าของที่ดิน
6.สำเนาโฉนด

ที่เหลือจะ เป็นใบเกี่ยวกับข้องวิศวกรโครงสร้าง, สถาปนิก ที่เขียนแบบให้กับเจ้าของบ้าน  หรือส่วนอื่นๆ ขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะของแต่ละราย หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามไปยังสำนักงานเขตที่บ้านท่านอยู่ในสังกัดของแต่ละพื้นที่ตามความสะดวกเลยครับ สำหรับระยะเวลาของการอนุมัติใบขออนุญาตรื้อถอนนั้นจะอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ การขออนุญาตรื้อถอนจะไม่มีค่าธรรมเนียมตรวจแบบ แต่จะมีค่าขอใบอนุญาต 20 บาทเท่านั้นครับ

การจะสร้างบ้านหรือรื้อถอนบ้าน เพื่อให้ถูกต้องและไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายต่าง ๆ ภายหลัง ควรจะปรึกษาหรือหาข้อมูลก่อนที่จะลงมือทำ เพราะหากทำไปโดยผิดข้อกฎหมายแล้ว จะพบว่าปัญหาที่ตามมาอาจจะยุ่งยากมากกว่าที่คิด ดังนั้นทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก สบายใจกว่าครับ